กรมอุทยานฯ คุมเข้ม! ห้ามใช้ครีมกันแดดผสม 4 สารเคมี ห่วงอันตราย”ปะการัง”โทษปรับ 1 แสนบาท

770
views

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้วันแรก 4 ส.ค.นี้

4 ส.ค. 64 กรณี กรมอุทยานแห่งชาติประกาศ ห้ามใช้ ครีมกันแดด มี 4 สารเคมีอันตรายต่อปะการัง วานนี้ (3 ส.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

กรมอุทยานฯ ประกาศห้ามใช้ ครีมกันแดด มี 4 สารเคมีอันตรายต่อปะการัง โทษปรับ 1 แสนบาท
ทั้งนี้ มีใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าสารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดด มีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้ปะการังฟอกขาว

กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ ในอุทยาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศ ดังนี้

1.ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2.ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ

บทความต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร