“เมื่อมีทรัพย์แล้ว ต้องมีด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจคุณค่าประโยชน์ของมัน ที่จะทำให้ไม่ตกลงไปเป็นทาสของทรัพย์ พูดสั้นๆ ว่า ต้องเป็นนายของทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทาสของทรัพย์
คนจำนวนมากมีทรัพย์แล้ว เป็นทาสของทรัพย์ ที่ว่าเป็นทาสของทรัพย์ก็คือ จิตใจนั้นถูกทรัพย์ครอบงำด้วยกิเลส
ประการที่หนึ่งคือ ความหวงแหน ความตระหนี่ และกิเลสต่อไปคือความห่วง ความกังวล ความทุกข์
ถ้ามีทุกข์เพราะทรัพย์ ไม่สามารถทำใจให้เป็นอิสระได้ ก็แสดงว่ามีความเป็นทาสของทรัพย์อย่างหนึ่ง
นอกเหนือจากนั้นก็คือ การที่ถูกอำนาจของทรัพย์เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ความโลภความหลงเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนทะเลาะวิวาทกันขึ้นในโลก
สำหรับผู้ที่วางจิตใจถูกต้อง จิตใจจะเป็นอิสระดังที่กล่าวว่า อยู่อย่างเป็นนายของทรัพย์ โดยรู้คุณ รู้โทษของทรัพย์ ทั้งแสวงหาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างมีปัญญารู้เท่าทัน และในการที่จะแสวงหา ใช้จ่าย และรักษาทรัพย์นั้น ก็ทำให้ทรัพย์เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามคุณค่าของมัน กับทั้งเมื่อมีทรัพย์ขึ้นมา ก็มีด้วยปัญญา ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนมากเกินไปเพราะทรัพย์นั้น
ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้จ่ายทรัพย์ไปแล้ว เกิดความร่อยหรอพร่องลงไป ก็รู้เท่าทันความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่มีได้เกิดได้ แต่ก็หายได้หมดได้ แล้วก็ทำให้เกิดให้มีใหม่ได้อีก
เมื่อมี ก็ต้องระวังรักษาให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท เมื่อพร่องไปหมดไป ก็ต้องรู้ตามเหตุปัจจัย และแก้ไขไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ฉะนั้นก็ทำใจให้คลายทุกข์ และมีความสุขได้ทุกกรณี
ในทางพระศาสนา ท่านสอนย้ำเรื่องนี้ คือการที่ว่าบุคคล เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์ตามคุณค่าที่เป็นวัตถุประสงค์ของทรัพย์แล้ว ถ้าทรัพย์นั้นตัวเองสามารถหาเพิ่มพูนได้มาอีก ก็มีความสุขสบายใจว่า เราแสวงหาทรัพย์มาได้ เราจะได้ใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีทรัพย์เพิ่มขึ้น เราก็มีความสุข มีความอิ่มใจ
ในทางตรงข้าม เรามีทรัพย์ขึ้นมาแล้ว และเราใช้จ่ายทรัพย์ไป แล้วมีเหตุให้ทรัพย์ร่อยหรอ หรือแม้กระทั่งหมดไป เราก็มีความสบายใจอีกว่า ทรัพย์นั้น เมื่อมี เมื่อหามาได้แล้ว ถึงมันจะหมด เราก็ได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว
อย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีจิตใจที่เป็นอิสระ ใช้ทรัพย์ด้วยปัญญา เข้าหลักที่ว่า ใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้อง โดยรู้เข้าใจความหมายของทรัพย์
ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม
คนเรานั้น แม้จะเป็นคนที่มีความคิดดีๆ มีคุณธรรม มีความรู้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีเงินทอง ไม่มียศ ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ ความคิดที่ดีๆ และความดีของเขานั้น ก็ก่อประโยชน์ได้น้อย เพราะจะทำอะไร ก็ทำได้จำกัดเพียงนิดหน่อย
แต่ถ้าคนดี หรือคนมีสติปัญญาดีนั้น เป็นคนมีทรัพย์สินเงินทอง มีอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือต่างๆ มีอำนาจ มีบริวาร ความคิดดีๆ สติปัญญาความสามารถของเขา ก็เกิดผลงอกเงยขยายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แผ่ไพศาล
อันนี้คือคติที่จะต้องเลือกว่า เราจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของกิเลส หรือจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรม
พระเจ้าอโศกมหาราช ตอนแรกได้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของกิเลส ก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นมากมาย
แต่เมื่อพระองค์เปลี่ยนมาใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของธรรมะ ทรัพย์และอำนาจนั้น ก็ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไพศาล จนพระเจ้าอโศกมหาราชได้กลายเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ที่ดีงาม เป็นมหาธรรมิกราช
ทั้งนี้ เพราะทรงใช้ทรัพย์สร้างโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลคนและโรงพยาบาลสัตว์ สร้างถนนหนทาง ทรงให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวาอารามที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งภิกษุและภิกษุณี จนกระทั่งตำรับตำราประวัติศาสตร์สมัยนี้บอกว่า ประเทศอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมีอัตราส่วนคนรู้หนังสือสูงกว่ายุคปัจจุบัน โดยสถิติที่เขาได้ประมาณไว้
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และได้ทำนุบำรุงพระศาสนา เป็นองค์ศาสนูปถัมภกในการจัดสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย และได้ส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย
สายหนึ่งนั้น ได้มายังดินแดนสุวรรณภูมิ คือ พระโสณะและอุตระ ที่เรามีความภาคภูมิใจกันว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันนี้
จึงเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ได้พระเจ้าอโศกมาปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจในความหมายที่ชอบธรรมแล้ว เราก็คงจะไม่ได้เห็นพระพุทธศาสนาในดินแดนของเรา หรือคงจะเป็นไปได้ยาก
เพราะฉะนั้น การใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรมนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับได้จารึกไว้ในหลักศิลาของพระองค์ตอนหนึ่งว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของเรานั้น ถ้าไม่เป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรมแล้ว ก็จะหาประโยชน์อันใดมิได้ นี่คือ คติของพระเจ้าอโศกมหาราช”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมบรรยาย เรื่อง “ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอย หรือเพื่ออะไร?”