สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องใน “วันอาสาฬหบูชา 2564”

941
views

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องใน “วันอาสาฬหบูชา 2564” วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564 ความว่า

ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว สาธุชนทั้งหลาย ต่างร่วมกันบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษเพื่อรำลึกถึงวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” นับเป็นนักขัตฤกษ์สำคัญ และยังสรรค์สร้างเกียรติประวัติสำหรับราชอาณาจักรไทย ด้วยเป็นประเทศแรกในโลก ที่ดำริริเริ่มให้มีการบูชาพิเศษในดิถีเพ็ญอาสาฬหะ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกาศความเป็นเมืองแห่งพระพุทธธรรม ซึ่งช่วยค้ำชูจิตใจของชนในชาติให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอกวิถีทางแห่งการดับเพลิงกิเลสให้สูญไปโดยสิ้นเชิง ด้วยมรรคมีองค์ 8 เรียกอีกอย่างว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ในโลกปัจจุบัน ขอพุทธบริษัทพึงหันมาพิจารณาทบทวนมรรควิธีประการสำคัญประการหนึ่งในองค์ 8 นั้น ได้แก่ “สัมมาวาจา” ซึ่งหมายถึงการดำรงคำสัตย์ กล่าวแต่คำประสานน้ำใจซึ่งกันและกัน มีวาจาไพเราะจับใจ และกล่าวแต่สิ่งที่เปี่ยมด้วยสารัตถะ หากจงช่วยกันใช้ฉันทวาจา ให้สมาชิกในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงชุมชน และประเทศชาติ เต็มไปด้วยสารประโยชน์ในกาลทั้งปวง ชวนกันเจริญ “เมตตาวจีกรรม” ซึ่งจะชักพาให้ตนและสังคมส่วนรวมมีความวัฒนาสถาพร

วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยปณิธานแห่ง “สัมมาวาจา” เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยไพบูลย์ด้วยสันติสุข ขอจงเร่งเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาประทานอริยอัฏฐังคิกมรรคไว้เป็นหนทาง พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญคุณประโยชน์ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาวาจา” อยู่ทุกขณะ ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวข้ามพ้นจากความทุกขโทมนัส แปรเปลี่ยนเป็นความเกษมสวัสดิ์ของสรรพชีวิตบนโลกนี้ได้สืบไป ตลอดกาลนาน

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร