สธ.ผวาโควิดกลายพันธุ์ใหม่อีก! สายพันธุ์เดลตา ลาม71จังหวัด

711
views

19 ก.ค. 64 – เมื่อเวลา 11.30 น. นพ.ศุภกิจ​ ศิริ​ลักษณ์​ อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์ ​แถลง​ข่าวการระบาดสายพันธุ์​โค​วิด​-19​ ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโควิด-19 สายพันธุ์​เดลตา (อินเดีย)​ แซงสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)​ เป็นที่เรียบร้อย ส่วนสายพันธุ์​เบตา (แอฟริกาใต้)​ ยังอยู่ในพื้นที่ชายแดน​ภาคใต้​เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าดูแนวโน้มภาพรวมของประเทศที่เราตรวจกว่า 3 พันตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์​เดลต้าเกือบ 63% และสายพันธุ์​อัลฟ่า 34%

อย่างไรก็ตามสายพันธุ์​เดลตา​ในวันนี้พบ 71 จังหวัด​ โดยเพิ่มขึ้นมา 11 จังหวัด​ ซึ่งมีหลายจังหวัด​เดิมที่เป็นศูนย์​อยู่กลับเพิ่มขึ้น เช่นแม่ฮ่องสอน​ 3 ราย กาญจนบุรี​ 1 ราย สมุทรสงคราม​ 4 ราย ฉะเชิงเทรา​ 20 ราย ตราด​ 2 ราย สุรินทร์​ 28 ราย ชุมพร 1 ราย นครศรีธรรมราช​ 2 ราย กระบี่​ 2 ราย พังงา 1 ราย และปัตตานี​ 2 ราย จึงเป็นเหตุ​ว่าทำไมผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เพราะสายพันธุ์​นี้มีคุณสมบัติ​ในการแพร่เชื้อ​ที่ง่าย

สำหรับสายพันธุ์​เบตา ยังอยู่ที่บริเวณ​ชายแดน​ใต้​เป็นส่วนใหญ่​ สัปดาห์​ที่ผ่านมาพบเพิ่มในนราธิวาส​ 90 กว่าราย ส่วนจังหวัด​ใกล้เคียงเช่น ปัตตานี​ ยะลา สงขลา​ พัทลุง​ พบเพิ่มขึ้นเช่นกัน และขึ้นไปจ.ชุมพร ซึ่งเป็นรายใหม่ ส่วนที่บึงกาฬ​ สัปดาห์​ที่แล้วพบ 1 ราย เป็นคนงานที่กลับมาจากไต้หวัน​ โดยพบผู้สัมผัส​ใกล้ชิด​ 3 ราย ส่วนกรุงเทพ​มหานคร​ ที่พบผู้ติดเชื้อติดจากญาติที่มาเยี่ยมจากนราธิวาส​ สัปดาห์​นี้ยังไม่เจอ ถ้าสัปดาห์หน้า​กรุงเทพ​มหานคร​ยังเป็นศูนย์​อยู่ สายพันธุ์​เบตาก็อาจจะจบได้

นพ.ศุภกิจ​ กล่าวว่า ถ้าการติดเชื้อมีจำนวนสูงมาก โอกาสที่จะมีการกลายพันธุ์​ก็จะสูงตามไปด้วย​ เมื่อไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์​ของมนุษย์ ก็อาจจะมีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นกลายเป็นพันธุ์​ใหม่ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังปล่อยให้มีการติดเชื้อมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีการกลายพันธุ์​ก็สูงเท่านั้น​ โดยเมื่อ​สัปดาห์​ที่แล้ว​พบ 7 ราย ที่เราพบการติดเชื้อแบบผสมพบ 2 สายพันธุ์​ทั้งอัลฟา และเดลตาในคนเพียงคนเดียว แต่มันยังไม่กลายเป็น​พันธุ์​ใหม่ แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้มากๆ เดียวมันก็จะพบกัน และอาจจะเป็น​พันธุ์​ใหม่ขึ้นมาได้

“การกลายพันธุ์​บางอย่างเกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกใบนี้ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลายพันธุ์​แล้วไม่มีอิทธิฤทธิ์​มากขึ้นก็แล้วไป แต่ถ้ากลายพันธุ์​แล้ว​มีขีดความสามารถ​มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อบ่อยขึ้น เร็วขึ้น การทำอันตรายมากขึ้น หรือดื้อวัคซีน​มากขึ้น อันนี้ทางองค์การ​อนามัย​โลก​ (WHO) ก็จะจัดเป็นสายพันธุ์​กลายเป็น​ที่น่ากังวล ทั้งนี้กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​ ร่วมกับเครือข่ายทั้งหลายได้ทำการเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธุ์อยู่ ถ้าทุกคนช่วยลดการแพร่ระบาด​ของโรคให้ได้เร็ว โอกาสกลายพันธุ์​ก็จะต่ำลง” นพ.ศุภกิจ ระบุ.

บทความต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร