ประเพณีทำบุญให้ทานไฟ ประเพณีโบราณคนเมืองคอน

10805
views

เมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นตำนานเกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา ที่หยั่งรากลึกในดินแดนสุวรรณภูมิ ประมาณปีพุทธศตวรรษที่ ๓ ยืนต้น พ.ศ.๒๓๗ ประเพณีให้ทานไฟ ประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาวนครศรีธรรมราช ประเพณีที่มีชีวิตเชื่อมโยงด้วยความศรัทธา จากรุ่นสู่รุ่น โดยถือปฎิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ให้ทานไฟ

การให้ทานไฟ เป็นการถวายอาหารร้อน ๆ แก่พระภิกษุสามเณรในฤดูฝนช่วงอากาศเย็นของชาวนครศรีธรรมราช ประเพณีนี้เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา ต้องการทำบุญกับพระภิกษุสามเณร โดยการถวายอาหารบิณฑบาตภายในวัด เพราะเมื่ออากาศเย็น พระภิกษุสามเณรไม่สะดวกที่จะออกไปบิณฑบาตนอกวัด จึงกลายเป็นประเพณีใหัทานไฟในปัจจุบัน หมายถึง การถวายความอบอุ่นแก่พระภิกษุ

ประเพณีให้ทานไฟ

ประเพณีการให้ทานไฟ นิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย หรือ เดือนยี่ของทุก ๆ ปี (ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นใน ภาคใต้ ปัจจุบัน

พิธีกรรม ในตอนรุ่งหรือเช้าตรู้ในวันนัดหมายที่จะให้ทานไฟ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนในละแวก นั้นจะพร้อมใจมากันที่วัด โดยจัดแจงเตรียมอุปกรณ์ เช่น ถ่าน ไม้ฟืน เตาไฟ พร้อมด้วยเครื่อง ปรุงอาหารหรือเครื่องทำขนมไปด้วย เมื่อถึงบริเวณวัดก็ช่วยกันก่อกองไฟและปรุงอาหารทำขนมกันทันที กองไฟจะก่อกี่กองก็ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของพระภิกษุสามเณรภายในวัดหรือที่นิมนต์มา จากวัดอื่น เมื่อก่อกองไฟเสร็จแล้วก็นิมนต์พระมาผิงไฟ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น อาหารและขนมที่ ปรุงสุกแล้วยังร้อน ๆ อยู่ ก็ถวายประเคนพระภิกษุให้ฉันได้ทันที ไม่ต้องเจริญพระพุทธมนต์ หรือกล่าวคำถวายสังฆทานเหมือนกับพิธีทำบุญในโอกาสอื่น

ประเพณีทำบุญให้ทานไฟ

อาหารที่จะถวายพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารที่ปรุงง่ายเป็นอาหารพื้นบ้าน ที่ยังร้อนอยู่ เช่น ข้าวต้ม ข้าวผัด ข้าวหมกไก่ ข้าวยำ ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเหนียวหลาม หมี่ผัด หรือ เป็นอาหารอื่น ๆ ก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค

ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด ขณะเดียวกัน ชาวบ้าน จะจัดเตรียมถุงหรือภาชนะเพื่อให้พระภิกษุสามเณรบรรจุอาหารนำไปฉันในตอนเพล เพราะตอนเช้าไม่ได้ออกรับบิณฑบาตตามปกติเหมือนทุกวัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว อาจจะอาราธนาให้ประธาน สงฆ์หรือพระเณรที่ประธานมอบหมายกล่าวสัมโมทนียกถาก็ได้ เสร็จแล้วประธานสงฆ์จะให้พร อุบาสกอุบาสิกากรวดน้ำ รับพร

ขนมโค

ส่วนขนมก็จะเป็นขนมทางถิ่นใต้ ขนมพื้นบ้านอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่ สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรง เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู้จุน มีความเชื่อกันว่า ขนมเบื้องของโกสิยเศรษฐี ที่ทำถวาย แก่พระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร สืบทอดมาเป็น “ขนมกรอก” ที่ชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราช ทำถวายพระสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟ

ขนมกรอก

ขนมกรอก มีส่วนผสมและวิธีทำง่าย ๆ คือ ใช้ข้าวสารเจ้าแช่น้ำ กรอกบดด้วยหินเครื่องโม่ที่ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “หินบด” หรือ “ครกบด” โดยบดอย่าให้ข้นหรือเหลวจนเกินไป แล้วคั้นกะทิติดไฟเคี่ยวให้แตกมันผสมลงไปในแป้งพร้อมน้ำตาล พอให้ออกรสหวาน ตอกไข่ใส่ตามส่วน ซอยหอมให้ละเอียดโรยแล้วตีไข่ให้เข้ากัน ต่อจากนั้นก็เอา กะทิตั้งไฟให้ร้อน

ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่น เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ เมื่อหยอดแป้งละเลงให้เป็นแผ่น ต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้องทั่วไป เพราะ จะไม่นุ่มและขาดรสชาติพอสุกก็ตลบพับตักรับประทานทั้งร้อน ๆ ปัจจุบันขนมกรอกดังกล่าวนี้ ไม่นิยมทำกัน แต่นิยมทำขนมพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น ขนมครก ขนมผักบัว (เรียกตามภาษาพื้นเมือง ว่า ขนมจู้จุน)

ประเพณีทำบุญให้ทานไฟ

การทำขนมกรอก นอกจากอินเดีย ลังกาเจ้าตำรับเดิมแล้ว ในประเทศไทยยังเอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนขนาดผลมะตูม ใช้ น้ำตาลปึกเป็นไส้ในเสียมไม้คลุกไข่ แล้วย่างไฟจนสุกกรอบแล้วถึงถวายพระ

ประเพณีการให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความศัทธาในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุสามเณรคลายหนาว

 

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร