ประวัติ พ่อท่านปลอด วัดนาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

11871
views
พ่อท่านปลอด วัดนาเขลียง

พระอุปัชฌาย์ปลอด หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “พ่อท่านปลอด” วัดนาเขลียง ต.นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช พ่อท่านปลอด ติสสโร เป็นพระเกจิชื่อดังที่มีความรู้ด้านวิทยาคม เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านเมื่อยามเดือดร้อน เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก ท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองอำเภอฉวาง, ช้างกลาง, ถ้ำพรรณรา, นาบอน และทุ่งใหญ่

เหรียญพระอุปัชฌาย์ปลอด รุ่นแรก ๒๔๘๒ วัดนาเขลียง

ชาตะกาล: พระอุปัชฌาย์ปลอด ถือกำเนิดในปีเถาะ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๑๐ ที่บ้านเกาะใหญ่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดาชื่อ เปรม โยมมารดาชื่อ เอียด มีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน (๑) เป็นผู้หญิงชื่อ หนู (๒) หลวงพ่อปลอด (๓) พระผอม (วัดบ่อท่อ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา) เมื่อ อายุ ๒๐ ปี ได้ถูกเกณฑ์ทหารไปรบในยามศึกสงคราม ท่านกลัวจะถูกเกณฑ์ทหารจึงได้หลบหนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ต่อมามีผู้แนะนำว่าถ้าต้องการให้พ้นผิดฐานหลบหนีทหารก็ให้บวชเสียสักพัก ท่านจึงได้ตัดสินใจบวชตั้งแต่บัดนั้น

อุปสมบท: หลวงพ่อปลอด ได้อุปสมบท ณ.วัดพังตรี ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา มีพระอธิการเสน เจ้าอาวาสวัดพังตรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดแจ้ง ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษา ณ. วัดแจ้ง กับพระอาจารย์แก้ว ซึ่งพระอาจารย์แก้ว ท่านเป็นพระที่มีความรู้ทางไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถาต่างๆ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอันมาก หลวงพ่อปลอด จึงได้ศึกษาธรรมะ และไสยศาสตร์ต่างๆจากพระอาจารย์แก้วจนชำนาญ ได้จำพรรษากับพระอาจารย์แก้ว เป็นเวลาประมาณ ๑๕ ปี

ในสมัยนั้นชาวบ้านนิยมจัดการแข่งเรือขึ้นเป็นประเพณีนิยม วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญคือเป็นส่วนกลางในการรวบรวมชาวบ้านและจัดหาเรือแข่งเพื่อไปแข่งกับวัดอื่นๆ วัดแจ้ง จึงเป็นวัดหนึ่งที่มีเรือแข่งแต่ก็ไม่เคยชนะวัดอื่นๆในละแวกนั้น หลวงพ่อปลอดจึงได้รับภาระในการจัดหาเรือมาเพื่อจะชิงชัยให้ได้ โดยต้องรอนแรมออกจากวัดแจ้งมาหาเรือในต่างจังหวัดซึ่งตอนนั้นน่าจะมีอายุประมาณ ๓๕ ปี โดยการเดินทางในครั้งนั้นหลวงพ่อปลอดได้เดินทางมาถึงปากพนัง พักที่วัดบางทองคำ และได้เรือไปแข่งแต่ก็ไม่ชนะตามเคย เลยต้องกลับมาปากพนังอีกครั้ง

ได้มีผู้แนะนำให้ไปหาเรือที่ฉวางซึ่งแถวนั้นมีป่าไม้มากโดยเจ้าอาวาสวัดบางทองคำในขณะนั้นได้ให้จดหมายไปถึงเจ้าอาวาสวัดกะเปียด อ.ฉวางด้วย ซึ่งมีพ่อท่านตุ้น เป็นเจ้าอาวาส โดยหลวงพ่อปลอดได้เดินทางไปทางภูเขาธง กับพักพวกอีกประมาณ ๕ คน แต่ที่กะเปียดไม่มีเรือ หลวงพ่อตุ้นได้แนะนำให้ไปหาที่บ้านนาเขลียง ท่านเลยไปพบกับหลวงพ่อบัว เจ้าอาวาสวัดนาเขลียง ได้เรือชื่อพยอมไป ๑ ลำ (เรือลำนี้ภายหลังท่านได้นำกลับมาที่วัดนาเขลียงหลัง จากมรณะภาพท่านเจ้าคุณพระธรรมปรีชาอุดม เจ้าอาวาสวัดตรณาราม อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ขอเอาไป ซึ่งท่านกับหลวงพ่อปลอดนั้นเป็นสหธรรมิกสนิทสนมกัน)

พ่อท่านปลอด วัดนาเขลียง

เมื่อได้เรือจากนาเขลียงไปแล้วโดยนำเรือไปทางคลองตาปีหน้าวัดออกไปทางบ้านดอนเลียบฝั่งไปถึงสงขลาเอาเรือพยอมไปแข่งแต่ก็ไม่ชนะอีก ต่อมาได้กลับมาที่นาเขลียงอีกครั้งหนึ่งจึงมีโอกาสได้สนิทสนมกับหลวงพ่อบัว ปทุมสุวรรณโณ เจ้าอาวาสวัดนาเขลียง หลวงพ่อบัว ท่านก็มีความรุ้ทางไสยศาสตร์ วิชาอาคม และความรู้ทางพืชยา สมุนไพร เป็นที่เคารพนับถือของคนในสมัยนั้นมากทีเดียว

หลวงพ่อปลอด จึงได้มาจำพรรษากับหลวงพ่อบัวตามคำชักชวนตลอดมา จนหลวงพ่อบัวมรณะภาพลงเมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๑ ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้หลวงพ่อปลอดเป็นเจ้าอาวาสวัดนาเขลียงตั้งแต่นั้นมา และได้รู้จักสนิทสนมกับขุนพิปูนเปรมประดิษฐ์ (ท่านนี้จะเป็นผู้อุปัฐากหลวงพ่อปลอด ตลอดมาโดยได้ถวายช้างให้กับหลวงพ่อปลอดเพื่อใช้เป็นพาหนะในยามมีกิจนิมนต์นอกวัด) และหลวงพ่อแดงหรือพระครูรังสรรค์อธิมุตต์ อดีตเจ้าคณะอำเภอฉวาง เจ้าอาวาสวัดหาดสูง

หลวงพ่อปลอด ติสฺสโร วัดนาเขลียง

หลังจากที่ท่านได้เป็นเจ้าอวาสวัดนาเขลียงแล้วได้ดูแลก่อสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัดขึ้นมากมายแต่บางอย่างได้พังทะลายสูญหายไปกับอุทกภัยในปี ๒๕๓๑ ท่านได้สร้างโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็กในละแวกนั้น (ถูกน้ำพัดพา) สร้างกุฏิทรงไทยใหญ่โตเป็นที่๑ของ อ.ฉวางในสมัยนั้นโดยช่างออกแบบคือท่านปลัดคลิ้ง วัดจันทาราม อ.เมือง นครศรีฯ บัดนี้ทรุดโทรมมากแล้ว รวมถึงถูน้ำพัดพาตอนหน้าไปครึ่งหนึ่ง สร้างอุโบสถ ๑ หลัง ถูกน้ำพัดพาเช่นกันคงเหลือไว้แต่พระประธานให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

อุปนิสัย: หลวงพ่อปลอดปกติจะเป็นคนใจเย็น แต่ถ้าหากมีอารมณ์โกรธแล้วจะไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ต้องรอให้หายโกรธเองเสียก่อน มักจะพูดหยอกเล่นเป็นกันเอง กับลูกศิษย์เสมอ ชอบฉันหมากพลูผสมกับขมิ้นอ้อย เป็นประจำไม่ขาด ความรู้ทางเวทย์มนต์ คาถา ท่านได้ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์แก้ว ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เชื่อกันว่าท่านอยู่ยงคงกระพัน

พระอุปัชฌาย์ปลอด ติสฺสโร

เพราะลูกศิษย์สมัยก่อนเล่าว่าถึงเวลาปลงผมแต่ละทีมีดโกนทื่อหมด หากศิษย์โกนให้แต่ไม่พอใจท่านจะจับมีดมาโกนเองด้วยความโมโหแต่จะไม่มีแผลใดๆเกิดขึ้น อีกเรื่องคือโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวบ้านมีเงินทองมักจะนำมาฝากหลวงพ่อไว้เสมอ เขาเล่าว่าโจรเมื่อรู้ว่าหลวงพ่อมีเงินทองมาก จึงคิดจะเข้าไปปล้นแต่พอไปถึงกลับเห็นว่าหลวงพ่อนั่งอยู่โดยมีรูปร่างสูง ใหญ่เท่าเพดานกุฎิก็ขลาดกลัว วิ่งกลับไป, ปลุกเสกว่านยาให้คนกินเวลาแข่งเรือแต่ละที มีกำลังไม่เหน็ดเหนื่อย

เวลารับนิมนต์นอกวัดและบวชนาคแต่ละทีหลวงพ่อมักจะขี่ช้างไปเสมอซึ่งขุนพิปูนฯได้ถวายให้ชื่อว่า “พังตูม” ถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำตัวหลวงพ่อดังปรากฎจนถึงปัจจุบัน ถ้ามีการบนบานหลวงพ่อแล้วประสบความสำเร็จมักจะมีการแก้บน ด้วยการนำช้างจำลองมาถวายเสมอ

หลวงพ่อปลอด ติสฺสโร วัดนาเขลียง

ในสมัยหลวงพ่อปลอด ชาวบ้านแถวนั้นมักจะได้ชมหนังตะลุง มโนราห์เสมอ เพราะถ้าหากหนังตะลุง มโนราห์คณะใดต้องเดินทางผ่านวัดโดยไม่แวะมาเคารพหรือแสดงถวายก่อนแล้ว จะเกิดเหตุขัดข้องให้ปวดท้องหรืออะไรสักอย่างจนต้องกลับมาแสดงในวัดก่อนทุกครั้ง

ศิษย์ของหลวงพ่อปลอด ที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันก็มี เช่น พระธรรมวราลังการ(กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม กรุงเทพฯ | พระครูธำรงค์วุฒิชัย (ยุ้ง) อดีตเจ้าอาวาสวัดกะเปียด นครศรีธรรมราช | หลวงพ่อพลอย อโนโม อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยโก พิปูน นครศรีธรรมราช

พ่อท่านปลอด วัดนาเขลียง

มรณกาล: พระอุปัชฌาย์ปลอด ติสฺสโร ได้มรณภาพด้วยโรคลมปัจจุบัน ด้วยเหตุแห่งมีหนังตะลุง (หนังดำวิน) มาแสดงในวัดตะเกียงเกิดดับ หลวงพ่อเลยนำตะเกียงมาซ่อม จนทำให้เกิดลมจับหน้ามืดหมดสติและถึงแก่มรณภาพในคืนนั่น ณ วัดนาเขลียง ในเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๘๒ รวมอายุได้ ๗๒ ปี
เก็บสรีระไว้ ๑ ปี และได้ปลงศพในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ตรงกับวันอาทิตย์ ที่๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓

พระอุปัชฌาย์ปลอด ติสฺสโร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาเขลียง ตั้งแต่ปี๒๔๕๑-๒๔๘๒ รวมแล้วเป็นเวลา ๓๑ ปี

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร