แพทย์เปิดข้อมูลโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำไมถึงแพร่เชื้อได้ง่าย พร้อมแนะวิธีลดการระบาด และลดความรุนแรงของโรค
วันนี้ (26มิ.ย.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” โดยระบุว่า โควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดได้ง่าย
ทราบกันดีว่าสายพันธุ์ เดลต้า หรือ อินเดีย ระบาดได้ง่าย เดิมสายพันธุ์ อัลฟา (อังกฤษ) รอบกระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G มาก จึงระบาดไปทั่วโลก สายพันธุ์ เดลต้า (อินเดีย) ก็ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษอีก จึงมีแนวโน้มระบาดมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษอย่างแน่นอน
ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ทำให้ระบาดได้ง่าย คือจุดตัดของโปรตีนหนามแหลม spike ให้ขาดจากกัน (S1 & S2) โดยอาศัย enzyme จากตัวเรา การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมาเป็นกรดอะมิโน arginine (R) ที่เป็น Basic amino acid บริเวณจุดตัด ทำให้ enzyme Furin ขอมนุษย์เข้าไปตัดได้ง่ายขึ้น
หลังจากที่ไวรัสใช้หนามแหลมเกาะบนเซลล์ทางเดินหายใจ ที่จุดรับ ACE2 เมื่อเกาะติดแน่นแล้ว จำเป็นจะต้องมีการตัดเพื่อให้ตัวไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้น เมื่อกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้
ทำให้ enzyme Furin เปรียบเสมือนเป็นกรรไกรตัด เพื่อปลดปล่อยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ จึงทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เพราะตำแหน่งที่ตัดถ้าเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น ด่าง(base) arginine แล้ว จะตัดได้ง่ายขึ้น ไวรัสก็จะเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ติดได้ง่ายขึ้น ดังแสดงในรูป
สำหรับนักเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ควรจะได้เรียนรู้ เมื่อติดง่าย ก็จะระบาดได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ที่เกิดขึ้นในรอบที่ 3 ขณะนี้แนวโน้มของสายพันธุ์ เดลต้า ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และจะทำให้เกิดการระบาดง่ายขึ้น การควบคุมก็จะยากขึ้น
การที่จะลดการระบาดของโรคในขณะนี้ สามารถทำได้โดยระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ในการป้องกันตนเองอย่างที่ปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่างต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ลดการเคลื่อนย้าย ของแรงงานอย่างเด็ดขาด ให้วัคซีนให้มากที่สุด และเร็วที่สุดในการลดความรุนแรงของโรค และการแพร่กระจาย ให้ได้มากที่สุด