“ไม้พญาท้าวเอว” นับเป็นของทนสิทธิ์ชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องรางที่ธรรมชาติสร้างมา ขลังแบบไม่ต้องปลุกเสก เป็นที่นิยมของคนสมัยโบราณไว้พกติดตัว เชื่อกันว่าสามารถป้องกันภัยต่างๆได้ ไม่ว่า กันเขี้ยว กันงา สัตว์มีพิษต่างๆ รวมตลอดทั้งในอีกหลายๆอย่าง ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป
พญาท้าวเอว ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia bispinosa (Griff.) Craib) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
สมุนไพรพญาท้าวเอว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขบเขี้ยว , สลักเขี้ยว (สุราษฎร์ธานี) ส่วนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียก “พญาท้าวเอว” เป็นต้น
ลักษณะของพญาท้าวเอว
ต้นพญาท้าวเอว จัดเป็นไม้พุ่มพาดพันไปบนต้นไม้อื่น ตามลำต้นมีหนามแหลมโค้ง พอแก่แล้วหนามจะโค้งหาลำต้นในลักษณะที่หนามไปล็อกลำต้นไว้ เป็นไม้ป่าของไทยที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ใบพญาท้าวเอว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบประมาณ ๖-๙ คู่ มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอกพญาท้าวเอว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีขาว ๕ กลีบ มีกลิ่นหอม
ผลพญาท้าวเอว ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม
สรรพคุณของพญาท้าวเอว
๑. ลำต้นใช้ฝนกับเหล้าทารักษาแผลในปาก (ลำต้น)
๒. หากปวดฟันหรือเป็นรำมะนาด ให้ใช้เหล้าเป็นกระสาย นำมาฝนแล้วทาบริเวณที่ปวด อาการก็จะบรรเทาลง (ลำต้น)
๓. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ลำต้น นำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้อาการท้องเดิน (ลำต้น)
๔. ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้งูสวัด ไฟลามทุ่ง (ลำต้น)
๕. ลำต้นใช้ฝนทาแก้พิษสัตว์กัดต่อย ขบ โดยใช้น้ำมะนาวหรือน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย แล้วเอาว่านนี้มาฝนเข้าด้วยกันกับน้ำกระสาย แล้วเอาไปปิดที่แผล (ลำต้น)
๖. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นพญาท้าวเอวผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น) แต่บางข้อมูลก็ระบุว่าให้นำไม้ท้าวเอวไปแช่ในน้ำให้เปียกชุ่มก่อน จะทำให้ตัวยาของไม้ซึมออกมา จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยไม่นานก็จะหาย
๗. นอกจากนี้ว่านพญาท้าวเอวยังมีสรรพคุณอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาอีก (ข้อมูลไม่มีแหล่งอ้างอิง) เช่น แก้เด็กเป็นทราง ฟันเป็นแมง เจ็บคอ ตกเลือด เลือดทำพิษ แก้โรคผิวหนัง เป็นหันฝีหัวพิษ แก้เล็บขบ (ใช้ลำต้นนำมาฝนกับเหล้า) หรือถ้ากินยาเบื่อ ยาพิษ ผิดสำแดง ปวดท้อง ลงท้อง เป็นบิด ให้นำมาฝนกับน้ำซาวข้าว (ลำต้น)
ประโยชน์ของพญาท้าวเอว
๑. หากนำมาปลูกเป็นไม้ประดับก็สวยและแปลกตาไปอีกแบบที่มีหนามล็อกลำต้น
๒. ในด้านของความเชื่อ พญาท้าวเอวถือเป็นไม้มงคล เป็นว่านเมตตามหานิยมทางแคล้วคลาด ทางเขี้ยวงา ฯลฯ มีไว้ใช้ป้องกันตัว เชื่อว่าป้องกันสัตว์ร้ายและอสรพิษกัด รวมถึงคนที่จะมาลอบทำร้าย (งู ตะขาบ แมงป่อง ปลาดุกยักษ์แทง )
ไม้พญาท้าวเอว เป็นไม้ที่พบแถบตะวันตก กาญจนบุรี ตาก พม่า เป็นไม้เถาเลื้อย มีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ ข้อเกี่ยวสำหรับไว้ยึดลำต้นของมันกับไม้ต้นอื่นๆ ข้อเกี่ยวของไม้เถาชนิดนี้เป็นที่มาของชื่อ เพราะหากเราตัดลำต้นออกมาข้อหนึ่ง ตรงขอเกี่ยวของมันจะมีลักษณะดั่งคนกำลังท้าวเอว จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่าไม้พญาท้าวเอว ทางภาคใต้ก็มีไม้ชนิดนี้ขึ้นเช่นกัน และเขาจะเรียกว่าไม้เขี้ยวขบ เพราะเขาอุปมาขอเกี่ยวของไม้เถาชนิดนี้ว่าคล้ายกับเขี้ยวงู
มีตำนานเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านว่า ไม้นี้มีเทวดารักษา ขึ้นอยู่ข้างๆอาศรมพระฤาษีตาไฟ วันหนึ่งพระฤาษีท่านจะลองฤทธิ์ของตนด้วยการลืมตาที่สาม พระฤาษีประกาศไว้ทั่วป่าอาณาเขตว่าอย่าเข้ามาขวางข้างหน้าเวลาที่ท่านลืมตาที่สามเพราะจะมีไฟบรรลัยกัลป์พุ่งออกมา ใครอยู่ขวางหน้าจะกลายเป็นจุลมหาจุล พอเวลาที่พระฤาษีตาไฟลืมตาขึ้น เทพยดาที่รักษาไม้พญาเท้าเอวก็เข้ามาขวางหน้าดู เรียกว่าลองฤทธิ์กับองค์ฤาษี และสามารถทนทานอยู่ได้ ไม่เป็นอันตราย พระฤาษีชมว่าเก่งและพอใจเป็นอันมากจึงตั้งใจสอนวิชาให้ เป็นอันว่าไม้พญาเท้าเอวมีฤทธิ์มาก
คนโบราณกล่าวถึงสรรพคุณสำคัญไว้ว่าดีทางกันเขี้ยวงาอสรพิษ และใช้คาดเอวไม่ให้ปวดเมื่อย แต่การใช้นั้นต้องรู้วิธีครับ ต้องนำไม้เท้าเอวไปแช่ในน้ำให้เปียกชุ่มก่อน เพราะยางภายในหรือตัวยาของไม้จะได้ซึมออกมา จากนั้นจึงประคบเข้าที่บริเวณปวดเมื่อยไม่นานก็หายได้
ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้
https://medthai.com/ , http://www1.g-pra.com/