หลวงพ่อพรหม ธัมมธิโร วัดพลานุภาพ จ.ปัตตานี มีชื่อเดิมว่า พรหม ราชบุตร เกิดเมื่อ เดือน สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๑ ตรงกับ วันเสาร์ เดือน ๙ ปีมะเมีย เป็นบุตรชายของนาย นายสีแก้ว ราชบุตร และนางคำแก้ว ราชบุตร
พ่อท่านพรหมมีความสนใจศึกษาความรู้ทางธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังขวนขวายเพื่อศึกษาวิชาอาคม และวิชาด้านสมุนไพร ที่ท่านได้รับการถ่ายทอดจากบิดา เพื่อนำไปรักษาให้คนในหมู่บ้าน
หลวงพ่อพรหม ได้อุปสมบทครั้งแรก ซึ่งเป็นการบวชตามประเพณี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดห้วยเงาะ จ.ปัตตานี จากนั้นจึงได้ลาสิกขาออกมา และด้วยเหตุที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เช่นการใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคให้กับชาวบ้านที่เจ็บป่วย ทำให้ท่านได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน “ลาแล เมาะยี” ต.กาบัง อ.ยะหา จ.ยะลา ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านนานกว่า ๑๘ ปี
แต่ในระหว่างนั้นเอง ท่านได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของทุกชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงสละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง โดยทำการอุปสมบทครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ที่วัดพลานุภาพ มีฉายาในทางธรรมว่า “ธมฺมธิโร ภิกขุ” แปลว่า ภิกษุผู้มีความกล้าหาญในธรรม
โดยการบวชครั้งที่สองนี้ พ่อท่านพรหม ได้เคร่งครัดในการปฏิบัติอย่างมาก คือ การถือธุดงควัตร ในข้อ “อยู่ป่าช้าเป็นนิจ” เป็นระยะเวลาราว ๕ ปีเศษ ที่ป่าช้า วัดห้วยเงาะ เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจ เพราะการอยู่ป่าช้านั้นจะได้พิจารณาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ตลอดจนการอยู่ในป่าช้าทำให้สามารถบำเพ็ญภาวนาได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ด้วยเหตุที่ท่านได้เคร่งครัดในการปฏิบัติตน ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากนั้นเป็นต้นมา วัดพลานุภาพก็ถูกพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จนเกิดความเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนเดินทางมาทำบุญที่วัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้เข้ามากราบนมัสการพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั่นก็คือ พ่อท่านพรหม ประกอบกับความเมตตาของพ่อท่านพรหมที่มีต่อญาติโยม การอุทิศตนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา พ่อท่านพรหมจึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านในละแวกนี้
วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๑.๐๐ น. พ่อท่านพรหม ธมฺมธิโร พระอริยะสงฆ์ผู้มากเมตตา ผู้ยึดหลักพรหมวิหาร ๔ อดีตเจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้ละสังขารแล้วด้วยอาการสงบ ณ วัดห้วยเงาะ รวมสิริอายุ ๑๐๑ ปี แต่หากนับอายุตามที่ศิษยานุศิษย์นับ ๑๐๔ ปี