ชาวอำเภอขนอม พร้อมใจร่วมสร้างศาลหลักเมืองขนอม ณ สวนสาธารณะพ่อตาคูระ เพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติอันยาวนานของบรรพบุรุษ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ศูนย์รวมพลังศรัทธาของประชาชนชาวอำเภอขนอม รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอขนอม
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จทรงเปิดศาลหลักเมืองขนอม ณ สวนสาธารณะพ่อตาคูระ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๐ ส.ค. ๒๕๖๑ โดยมีการประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยมีประชาชนร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
สำหรับอำเภอขนอม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นเมืองเก่าแก่ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง แห่ง กรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๑๙๑๒ สมัยอยุธยา เรียก เมืองตระนอม ขนอมพะเนียน อาจมาจากคำว่า เขาล้อม เขานอม เขาน้อม เขาหนอม ขนอม เพราะอำเภอนี้มีเขาล้อมรอบอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกลอยตามเนินเขาโดยด้านหน้าเป็นทะเลหน้าด่านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันคืออำเภอขนอม มี ๓ตำบลคือ ขนอม ท่าเนียน และเขาวังทอง ติดกับเมืองตระชล (สิชล) ด้านหน้าคือสมุยและพะงัน
เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราช ได้เกิดอหิวาต์ระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนเมืองเกือบร้างอยู่เป็นเวลานาน พระเจ้าอู่ทองจึงได้บัญชาให้พนมวังละนางเสดียงทองผู้เป็นญาติใกล้ชิดลงมาสร้างเมืองชื่อ “นครดอนพระ” (ปัจจุบันอยู่ในตำบลกงตาก อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
และได้มอบหมายให้เชื้อพระวงศ์สร้างเมืองเล็กๆ ขึ้นใกล้เคียงกับบริเวณรอบเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อรวบรวมประชาชนที่หนีโรคระบาดตั้งเป็นชุมชนดังเดิม จึงปรากฏว่า มีเมืองหลายเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น รวมทั้งเมืองที่มีชื่อว่า “เมืองตระนอม” ซึ่งสร้างโดยเจ้าอินทราชาและเจ้าหญิงสนตรา (ธิดาของพนมวัง) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งมีร่องรอยเป็นปูชนียสถานทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังหลายร้อยปี เช่น วัดเจดีย์หลวง มีพระพุทธรูปเก่าแก่และสระน้ำปรากฏอยู่ มีถ้ำเขาวังทอง ถ้ำเขาพระ วัดเตล็ด มีพระพุทธรูปเก่าแก่ และวัดท่าจันทน์ มีเจดีย์โบราณอยู่บนเขาธาตุ

โดย คำว่า “ขนอม” ไม่ปรากฏคำแปลในพจนานุกรม มีการสันนิษฐานถึงที่มาดังนี้
๑. เพี้ยนมาจากชื่อเดิม คือ “เมืองตระนอม”
๒. มาจากคำว่า “เขาล้อม” เพราะเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ และแผลงมาเป็น “ขนอม” เพราะเรียกสะดวก ๓. มาจากคำว่า “เขาพนม” ซึ่งเป็นภูเขาใหญ่ลูกหนึ่งของอำเภอขนอม ซึ่งอาจเพี้ยนมาเป็นอำเภอขนอมได้
จากเหตุผลเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “ขนอม” ดังกล่าว ข้อสันนิษฐานแรกมีน้ำหนักมากที่สุดเพราะมี หลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ปรากฏร่องรอยอยู่อย่างแน่ชัด
เมืองขนอม ได้รับการสำรวจเข้าอยู่ในทำเนียบการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีฐานะเป็นตำบล ๆ หนึ่งของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ มีลักษณะเป็นเมืองซึ่งมีหุบเขาล้อมรอบ