“พุทธทาสภิกขุ” ใครที่เคยอ่านหนังสือของท่านเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติในสวนโมกข์ย่อมจะเข้าใจถึงที่มาของปรัชญาและแนวคิดต่าง ๆ ของท่านได้ดี ในบรรดาความคิดริเริ่มอันหลากหลายของท่านพุทธทาสนั้น มีอยู่แนวคิดหนึ่งที่เคยเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน นั่นคือแนวคิดเรื่อง “เรียนพุทธศาสนาใน ๑๕ นาที”
ท่านพุทธทาสกล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า
“ก่อนนี้เราเคยบอกว่า ‘คนสามารถเรียนพุทธศาสนาได้ใน ๑๕ นาที’ แต่เราจะกล่าวให้ยิ่งกว่านั้นว่า ‘พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวถ้าผู้นั้นมีอุปนิสัยถึงขนาดและเหตุปัจจัยทั้งหลายสมบูรณ์ทุกประการ … ๑๕ นาที ยังนานนัก‘
พุทธศาสนานั้นถ้าจะให้เรียนกันภายใน ๑๕ นาที ก็เรียนได้ ถ้าจะให้เรียนกันในพริบตาเดียวก็ได้ โดยเรียนกันอย่างนี้ คือให้เรียนรู้ ‘เช่นนั้นเอง’ เรียนรู้ ‘ความเป็นเช่นนั้นเอง’ พูดได้ด้วยคำเพียงสามพยางค์ว่า ‘เช่นนั้นเอง’ รู้ ‘ความเป็นเช่นนั้นเอง’ ถึง ‘ความเป็นเช่นนั้นเอง’ นี่คือรู้พุทธศาสนาหมดสิ้น
หลักปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนากี่ระบบก็ไปรวมอยู่ที่จุดปลายว่า ‘รู้ความเป็นเช่นนั้นเอง‘ คือรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า ‘มันเป็นเช่นนั้นเอง’
หลัก ‘ปฏิจจสมุปบาท’ หรือ ‘อิทัปปัจจยตา’ ซึ่งครอบโลกนั้น มันสรุปเหลืออยู่เพียงว่า ‘ตถตา’ (เป็นอย่างนั้น) ‘อวิตถตา’ (ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น) ‘อนัญญถตา’ (ไม่เป็นไปอื่นจากความเป็นอย่างนั้น) ‘ธัมมฐิติ’ (ตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ) ‘ธัมมนิยาม’ (เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ) แต่อย่างนี้มันยุ่งยากลำบากมากเรื่อง ไม่ต้องจำก็ได้ จำคำว่า ‘ตถตา’ ไว้คำเดียวก็พอ ซึ่งแปลว่า ‘เช่นนั้นเอง’
การเห็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา นั่นแหละคือเห็น ‘เช่นนั้นเอง‘ ที่ต้องทุกข์ก็เพราะว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ที่ไม่ต้องทุกข์ก็เพราะว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ฉะนั้น เรามี ‘เช่นนั้นเอง’ ไว้เป็นเครื่องดับทุกข์เถอะ อะไรเกิดขึ้นมาก็เห็นเป็นเช่นนั้นเองไว้ก่อน แล้วก็จะไม่รัก จะไม่เกลียด จะไม่โกรธ จะไม่กลัว จะไม่วิตกกังวลอะไรทั้งหมด เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง
ถ้ามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็เห็นเช่นนั้นเองของความทุกข์ แล้วก็หาเช่นนั้นเองของความดับทุกข์ที่มันเป็นคู่ปรปักษ์กันเข้ามาซี ‘เช่นนั้นเอง’ กับ ‘เช่นนั้นเอง’ มันก็ฟัดกัน ฆ่ากันเอง ในที่สุดความทุกข์มันก็ดับไปเพราะเรามี ‘เช่นนั้นเอง’ ฝ่ายดับทุกข์หรือฝ่ายนิพพาน … นี่พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวก็ด้วยคำว่า ‘เช่นนั้นเอง’
ถ้าจะไปแจกเป็นเรื่องอริยสัจสี่ เป็นเรื่องอนัตตา เป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องอะไร มันก็กินเวลาตั้ง ๑๕ นาที หรือมากกว่านั้น ถ้าเราอยากจะเรียนพุทธศาสนาใน ๑๕ นาที ก็เรียนเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราจะเรียนในพริบตาเดียว ในชั่วอึดใจเดียวนี้ ก็เรียนเรื่อง ‘เช่นนั้นเอง’ ถึง ‘ความเป็นเช่นนั้นเอง’ รู้ ‘ความเป็นเช่นนั้นเอง’ มันก็จบพุทธศาสนาทั้งหมด
กล้าบอกและกล้ายืนยันว่า หัวใจของพุทธศาสนาคือคำว่า ‘เช่นนั้นเอง’ สามพยางค์ ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นเช่นนั้นเอง ทางวัตถุก็เช่นนั้นเอง ทางจิตหรือทางนามธรรมก็เช่นนั้นเอง กิริยาอาการของมันก็เช่นนั้นเอง การปรุงแต่งของมันก็เช่นนั้นเอง เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมามันก็เช่นนั้นเอง
จงพยายามศึกษาคำว่า ‘เช่นนั้นเอง’ ให้เป็นที่เข้าใจและแจ่มแจ้งอยู่เสมอ อะไรเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เห็นให้ชัดเหลือชัดเลยว่ามันเป็น ‘เช่นนั้นเอง‘ แล้วก็จะไม่หลงรัก ไม่หลงเกลียด ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย กิเลสเกิดไม่ได้เพราะอำนาจของ ‘เช่นนั้นเอง’
ถ้าอยากจะเรียนพุทธศาสนาด้วยวิธีลัดสั้นที่สุดก็เรียนเรื่อง ‘เช่นนั้นเอง’ มันไม่เป็นการทำลายพุทธศาสนาหรือดูหมิ่นคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันสั้น ยิ่งสั้นยิ่งดี ไม่อย่างนั้นมันก็จะตายเสียก่อน เราไม่ยอมรับว่านิพพานต่อเมื่ออีกหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านชาติ เราไม่ยอมรับ แล้วก็ไม่อยากให้ท่านทั้งหลายยอมรับ นิพพานนั้นต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้”
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลและคำอธิบายของท่านพุทธทาสเกี่ยวกับการเรียนพุทธศาสนาใน ๑๕ นาที ใครจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิสูจน์ความจริงโดยการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วเราก็จะรู้เองเห็นเองว่าแนวคิด “จบพุทธศาสนาด้วยคำสามพยางค์” ของท่านพุทธทาสนั้นเป็นไปได้จริงเพียงใด
อ้างอิงข้อมูลจาก – หนังสือ “ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน” โดย พุทธทาสภิกขุ