พระราหุลเถระ ผู้โชคดี ผู้ใคร่ศึกษา ขยันในการเล่าเรียน

4881
views
พระราหุล

พระราหุล พระนามเดิม เจ้าชายราหุล เป็นพระโอรสในเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) กับพระนางยโสธรา ประสูติในวันที่พระบิดาออกผนวช

พระราหุล

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ เกิดพระทัยปรารถนาความหลุดพ้น มีพระดำริว่าจะเสด็จออกผนวช เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าพระนางยโสธราพิมพา ทรงให้กำเนิดพระโอรส พระองค์ทรงรักและห่วงลูกยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ จึงเปล่งคำอุทานออกมาว่า “พันธะนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” (ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว) พระกุมารพระองค์นี้จึงมีนามว่า “พระราหุล” หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระทัยจากพระมเหสีและพระกุมารเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ในที่สุด

พระราหุล

หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ราหุลกุมารจึงเกิดความรักในพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง

พระกุมารทูลขอกรรมสิทธิ์ในพระราชสมบัติจากพระบิดา แต่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่า ทรัพย์สมบัติทางโลกนั้นไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน พระองค์จึงพระราชทานสมบัติทางธรรมให้แก่พระราหุล โดยมีรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้พระกุมารเมื่ออายุ ๗ ปี พระราหุล จึงเป็นสามเณรรูปแรกในพุทธศาสนา  ต้องอดอาหารในเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงจนถึงรุ่งเช้า และตามปกติพระภิกษุสามเณรในสมัยพุทธกาล

พระราหุล

แม้จะเป็นถึงโอรสของพระศาสดา แต่ขณะที่ถือเพศบรรพชิตนั้น สามเณรราหุลก็มิได้ถืออภิสิทธิ์ใดๆ ท่านดำรงตนอยู่ในวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิเคยสร้างความลำบากพระทัยใดๆ ให้พระพุทธเจ้าเลย

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า ภิกษุที่นอนร่วมกุฏิกับอนุปสัมบัน (ผู้ยังมิได้อุปสมบท ได้แก่ คฤหัสถ์และสามเณร) ต้องอาบัติ สามเณรราหุลก็เคารพในข้อบัญญัติดังกล่าว จากเดิมที่เข้า-ออกพระกุฏิของพระพุทธเจ้าและพระสาวกอยู่เป็นนิตย์ แต่เพราะเกรงว่าตนเองจะเป็นต้นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกต้องอาบัติ สามเณรราหุลจึงเลือกที่จะจำวัดในเวจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้าตลอดทั้งคืน พระพุทธองค์เสด็จไปพบเข้ากลางดึก จึงนำท่านกลับมาพักที่พระคันธกุฎีของพระองค์

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระองค์จึงทรงลดหย่อนผ่อนปรนสิกขาบทข้อที่ว่า ด้วยห้ามภิกษุอยู่ในที่มุงบังเดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน ขยายเวลาออกเป็นสามคืน

พระราหุล

นอกจากพระราหุลจะปฏิบัติตามกิจของสามเณรอย่างไม่ย่อหย่อนแล้ว ท่านยังมุ่งกำจัดกิเลสด้วยการถือการนั่งเป็นวัตร นั่นคือพระราหุลไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลาถึงสิบสองปี ผลจากการถือวัตรปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ท่านสามารถขัดเกลากิเลสและดำรงตนเป็นผู้สันโดษมักน้อยได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อบวชใหม่ๆทุกๆวัน สามเณรราหุลนั้น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กอบทรายขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วกล่าวว่า วันนี้เราพึงได้โอวาทจากพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาจารย์ทั้งหลายมากเท่าเม็ดทรายนี้ ด้วยเหตุที่พระราหุลเป็นผู้ยินดีในการเรียนรู้และมุ่งมั่นศึกษาพระธรรมอย่างยิ่ง

พระราหุล

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังมากมายหลายเรื่อง เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังป่าอันธวัน แขวงเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี หลังจากได้ฟัง “จูฬราหโลวาทสูตร” เนื้อหาว่าด้วย ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จากพระพุทธองค์ พระราหุลก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน บรรลุพระอรหัตผล เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ท่านเคยขอพระพุทธบิดาแสดงฤทธิ์ให้พระมารดาดูก่อนพระมารดาจะดับขันธ์

พระราหุลเถระ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เอตทัคคะ”(ผู้เลิศกว่าคนอื่นในด้านใคร่การศึกษา) คือ ชอบการศึกษาหรือขยันหมั่นในการเล่าเรียน

พระราหุล มีสมญานามที่ เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเรียกอีกนามหนึ่ง คือ “ราหุลภัททะ” แปลว่า ราหุลผู้ดีงาม หรือราหุลผู้โชคดี ซึ่งพระราหุลเองท่านก็ยอมรับว่า คำพูดนี้เป็นความจริง เพราะท่านนับว่ามีโชคดีถึงสองชั้น โชคชั้นที่หนึ่งได้เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โชคชั้นที่สองได้เป็นโอรสในทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระราหุล

ไม่มีรายละเอียดว่า ท่านปรินิพพานอย่างไร ทราบเพียงว่าท่านพระราหุลเถระดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ดาวดึงส์เทวโลก ท่านมีอายุไม่มากนัก เพราะท่านนิพพานก่อนพระพุทธองค์ผู้เป็นพระบิดา ก่อนพระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และก่อนพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นพระกรรมวาจารย์

พระราหุลเถระกล่าวธรรมวาทะไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นดังคนตาบอด เพราะไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือตัณหาปกปิดไว้ ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือความประมาท เหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบ เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เยือกเย็นดับแล้ว

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร