การเปรียบเทียบเป็นที่มาของความทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนที่มีมากกว่า ดีกว่า สูงกว่าเรา ดังนั้นไม่ว่าจะมีมากเท่าไร คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความทุกข์ ตราบใดที่เห็นคนอื่นมีมากกว่าตน แม้แต่เศรษฐีร้อยล้านก็ไม่มีความสุขหากเห็นเพื่อน ๆมีเงินนับพันล้าน
หลายคนมักปรารถนาจะได้อะไรต่ออะไรมาก ๆ
แต่ที่จริงแล้วการได้มามาก ๆ ไม่ทำให้เรามีความสุขเลย หากได้น้อยกว่าคนอื่น ในทางตรงข้าม แม้ได้น้อยแต่ถ้าได้มากกลับทำให้เรามีความสุขมากกว่า
เคยมีการสอบถามผู้คนว่า จะเลือกข้อไหน ระหว่าง
ก) ได้เงิน ๕,๐๐๐ แต่เพื่อนร่วมงานได้ ๓,๐๐๐
ข) ได้เงิน ๑๐,๐๐๐ แต่เพื่อนร่วมงานได้ ๑๕,๐๐๐
คนส่วนใหญ่เลือกข้อ ก) ทั้ง ๆ ที่ตัวเองได้แค่ครึ่งเดียวของข้อ ข) เหตุผลนั้นมีประการเดียวคือ ต้องการได้มากกว่าคนอื่น ส่วนจำนวนนั้นเป็นเรื่องรอง
พูดอีกอย่างก็คือ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ความสุขไม่ได้อยู่ที่ว่าตนมีเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับคนอื่นว่ามีเท่าไร ต่างหาก ตราบใดที่เขามีมากกว่าฉัน ฉันก็ไม่มีความสุข
ความคิดเช่นนี้แหละเป็นที่มาของความทุกข์ของคนทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะได้มากเท่าไร ก็ต้องมีคนอื่นที่ได้มากกว่าเราเสมอ ตราบใดที่เราไม่เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น เราจะหาความสุขไม่ได้เลย
แม้จะมีโชคได้แหวนเพชรเม็ดงามก็ยังทุกข์หากรู้ว่าคนอื่นได้เพชรเม็ดใหญ่กว่าหรือแพงกว่า มีรถราคาเป็นล้านก็ยังทุกข์เมื่อเห็นเพื่อนบ้านขับรถราคาแพงกว่า ได้เป็นผู้จัดการก็ยังทุกข์หากรู้ว่าเพื่อนร่วมรุ่นได้เป็นซีอีโอบริษัทใหญ่กว่า ได้คู่ครองที่ซื่อตรงก็ยังทุกข์เมื่อเห็นเพื่อนได้คู่ครองที่เอาอกเอาใจมากกว่า รูปร่างดีแต่ก็ยังเป็นทุกข์เพราะเห็นเพื่อน ๆ สวยกว่า ซื้อของได้ถูกกว่าก็ยังทุกข์เมื่อรู้ว่าคนอื่นซื้อได้ถูกกว่าเรา
ตราบใดที่เรายังเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ เราจะหาความสุขไม่ได้เลย ไม่ว่าร่ำรวยแค่ไหน ได้โชคได้ลาภเพียงใดก็ตาม
ธรรมะโดย – พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบทความนี้เป็นธรรมทาน..ให้เพื่อนๆ