เยือนเมืองนคร ไหว้พระขอพร ๕ เกจิดังเมืองใต้ สรีรสังขารไม่เน่าเปื่อย เสริมมงคล เสริมบุญบารมี

81589
views
ไหว้พระขอพร ๕ เกจิดังเมืองใต้ สรีรสังขารไม่เน่าเปื่อย

พระเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของชาวเมืองนคร หลายองค์ด้วยกัน โดยทางภาคใต้จะเรียกพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือว่า “พ่อท่าน” ซึ่งก็คล้ายกับคำเรียก หลวงพ่อ หรือหลวงปู่ นั่นเอง โดยพระเกจิเหล่านั้นต่างกระจายกันอยู่ในอำเภอต่างๆ ของเมืองนคร เป็นศูนย์รวมจิตใจคนนครฯ

พ่อท่านคล้าย


พ่อท่านคล้าย วัดธาตุน้อย ช้างกลาง

วัดธาตุน้อย หรือวัดพระธาตุน้อย อยู่ที่อำเภอช้างกลาง ตั้งขึ้นโดยความประสงค์ของพ่อ ท่านคล้าย(พระครูพิศิษฐ์อรรถการ) มีเนื้อที่ ๔๖ ไร่สร้างขึ้นบนที่ดินซึ่งนายกลับ งามพร้อม ถวายแด่พ่อท่านคล้าย ท่านจึงได้สร้างพระธาตุน้อยขึ้นใน ปี ๒๕๐๔ ลักษณะของพระธาตุน้อยเป็นการจำลองพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

เพียงแต่งย่อส่วนให้เล็กลงเป็นเจดีย์ ทรงลังกา ฐานด้านกวางด้านละ ๒๗ เมตรสูง ๗๐ เมตร องค์เจดีย์สีขาวเด่นส่วนปลียอดแบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรกทาสีขาว ช่วงกลางหุ้มโมเสด ช่วงยอดสุดหุ้มด้วยทองคำหนัก ปัจจุบันภายในองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานสรีระพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ สถานที่นี้จึงเป็นเจดีย์อนุสรณ์สถานพ่อท่านคล้ายอีกด้วย

พ่อท่านคล้าย

พระครู พิศิษฐ์อรรถการ (คล้าย จนทวณโณ)อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขันและวัดพระธาตุน้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า พ่อท่านคล้าย เดิมชื่อ คล้าย สีนิล เกิด ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๗ ที่บ้านโคกทือ ต.ช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง นครศรีธรรมราช

นิสัยเป็นคนมีมานะ ขยันหมั่นเพียร สุภาพเรียบร้อย เมื่ออายุ ๑๕ ปีประสบอุบัติเหตุ ในการถางป่าทำไร่ กระดูกปลายเท้าสามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว ท่านได้ใช้มีดตัดปลายเท้า ออกด้วยตัวเอง และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอำเภอฉวาง

วัดพระธาตุน้อย

ต่อเมื่ออายุครบ ๒๐ปี จึงได้อุปสมบท ณอุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนทสวณโณ แล้วได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี พ่อท่านคล้ายเริ่มศึกษาเบื้องต้นที่บ้านโดยบิดาเป็นผู้สอน เรียนวิชาคำนวณ และวิชาอักษรโบราณ

จนสามารถอ่านออกเขียนชำนาญทั้งหนังสือไทยและ หนังสือขอม เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาภาษาบาลี (มูลกัจจายนะ) ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักวัดสามพัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ จนมรณภาพ ในระหว่างนั้นเมื่อ พ.ศ๒๕๐๐ ท่านยังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อยอีกด้วย

วัดพระธาตุน้อย

เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่ง ออกเป็นสองส่วน ชาวบ้านได้สร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า วัดพระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้ท่าน เป็นเจ้าอาวาส พ่อท่าน คล้ายมรณภาพด้วยโรคหืด เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ..ศ. ๒๕๑๓รวมอายุได้ ๙๖ ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐วัน

จึงได้ บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ในสัตตมวาร หรือพระเจดีย์น้อยวัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นผู้นำในการสร้างวัดพระเจดีย์ พระพุทธรูป และร่วมกันในการปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก ท่านได้รับการขนานนามว่า “พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์” คนทั่วไปต่างเชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา ของท่านว่าพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น ท่านจะพูดจา กับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะ ให้พรกับทุกคน “ขอให้เป็นสุขเป็นสุข”

พ่อท่านคล้าย เทวดาเมืองคอน

ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่ พบ ความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำ อวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย

คนที่ไปนมัสการหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวนผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่าน คล้าย ก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมาก ของท่านหากใครได้รับจากมือท่านเป็นต้องหวงแหนอย่างที่สุด

พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง

พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ร่อนพิบูลย์

วัดถลุงทอง อยู่ในอำเภอร่อนพิบูลย์ สร้างเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีโดยพี่น้องสองคน พี่ชายชื่อสุดสร้างวัดป่าตอ และน้องชายชื่อดำสร้างวัดถลุงทองนายดำได้นิมนต์พระธุดงค์ที่เดินทางมาจากอยุธยา คือพระอาจารย์อยู่ให้จำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ท่านมีชื่อเสียงในทางเป็นพระหมอเชี่ยวชาญทางเวทมนต์คาถา และวิปัสสนาธุระ ท่านมรณภาพลงด้วยอายุ ๘๒ ปีโดยมีพระอาจารย์ขำเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาในระหว่างนั้นท่านได้ทำการบวชสามเณรคลิ้งซึ่งเมื่อท่านมรณภาพลงในวัย ๘๕ ปี หลวงพ่อคลิ้งก็ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา

พ่อท่านคลิ้ง

พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ เดิมชื่อคลิ้ง ฉิมแป้น เป็นบุตรคนเดียวในวัยเด็กมีความเฉลียงฉลาดผิดเด็กธรรมดาทั่วไป เมื่ออายุได้ ๑๗ ปีมารดาถึงแก่กรรมท่านจึงบวชแทนคุณแล้วก็ครองเพศเป็นบรรพชิตมาตลอด

จวบกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตท่านเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นพระเถระที่มีวิชาอาคมอีกรูปหนึ่งนอกจากนี้ พ่อท่านคลิ้ง ยังมีอายุยืนนานถึง๑๐๔ ปี โดยท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ และมรณภาพใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อผู้ไปกราบนมัสการท่าน

วัดถลุงทอง อ.ร่อนพิบูลย์

ในด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้น ขนาดพ่อท่านคล้าย แห่งวัดสวนขัน ยังกล่าวยกย่อง พ่อท่านคลิ้งเสมอ เช่นว่า มีชาวบ้านจาก อ.ร่อนพิบูลย์ไปกราบพ่อท่านคล้าย

พอท่านทราบว่ามาจากร่อนพิบูลย์ ท่านก็จะกล่าวว่า “ทีหลังไม่ต้องมาไกลถึงนี้หรอก ไปหาท่านคลิ้งนั้นแหละ ท่านคลิ้ง(หลวงพ่อคลิ้ง)ให้พรดีเหมือนเหมือนฉัน”

พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ

พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ เชียรใหญ่

วัดดอนตรออยู่ในอำเภอเชียรใหญ่ สำหรับชื่อ”ดอนตรอ”ตามความเป็นมาหมายถึงการเล่นกีฬาตะกร้อบนเนินสูงๆ หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ดอนตะกร้อแต่ตามสำเนียงใต้เหลือเพียงคำสั้นๆ ว่า ดอนตรอ และเรียกกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน

วัดดอนตรอเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณกาล ยากที่จะค้นหาหลักฐานต่างๆ ได้ แต่คำนวณดูจากใบเสมารอบอุโบสถหลังเก่าแก่ดูจากซากอิฐ กระเบื้อง และรูปทรงของสิ่งปรักหักพัง พอจะบอกได้ว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ปี สร้างมาในสมัยใดไม่ปรากฏแต่คงรุ่นราวคราวเดียวกันกับวัดทุ่งเฟื้อ

พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ

พ่อท่านสังข์ เดิมชื่อสังข์ ซ้ายคล้าย เป็นชาว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เกิดที่บ้านดอนตรอ ในรัชกาลที่ ๕ที่บ้านประดู่โพรง เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๔๙บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปีเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ได้รับฉายาว่า “เรวโต”มีพรรษารวม ๗๘ พรรษา มรณภาพลงเมื่อ อายุ๙๘ ปีเมื่อ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๗โดยแพทย์ระบุว่าเส้นเลือดในสมองแตก ที่โรงพยาบาลมหาราช จ.นครศรีธรรมราช

ท่านเป็นพระที่ไม่ชอบเปิดเผยตัวเองไม่ชอบไปไหนมาไหน จึงทำให้ดูเหมือนว่า ท่านได้พยายามซุกซ่อนตัวของท่านเอาไว้ในป่าในดงแต่ก็มีเรื่องราวตำนานของคนเก่าคนแก่ในพื้นที่ อ.เชียรใหญ่ เล่าไว้ว่า พ่อท่านสังข์เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนแดนใต้สุดยอดเกจิแห่งดินแดนเชียรใหญ่ ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระครูเรวัตศีลคุณกิตติคุณของท่านก็เป็นที่กล่าวขวัญ

อีกทั้งเป็นพระเกจิ อาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องจากพ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ว่า มีวิทยาคมสูงเป็นเลิศ ท่านมีพี่น้อง๓ คน ตอนท่านเกิดได้ไม่ทันจำความโยมพ่อ โยมแม่ ก็มาเสียชีวิตลงทั้งคู่ในเวลาไล่เลี่ยกันพี่สาวคนโตก็นำมาเลี้ยงดูแทน

พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ

เมื่อ หลวงพ่อสังข์ อุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดดอนตรอตลอดมา ถึงแม้ว่าในยุคสมัยนั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมยังไม่มีแพร่หลายดังเช่นในยุคนี้ สมัยนี้ก็ตาม แต่ท่านยังได้ยึดหลักการปฏิบัติท่องบ่น สวดมนต์ทำวัตรเช้า-ค่ำและปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์เจ้าอาวาสมิได้ขาด

ถ้ามองดูผิวเผินไม่ลึกซึ้งแล้วหลวงพ่อสังข์ค่อนไปทางเคร่งขรึม ไม่ค่อยยิ้มแย้ม ตบะดีมากแต่ถ้าได้ไปคลุกคลีอยู่กับท่านนานๆ แล้ว จะเห็นว่าท่านมีเมตตาจิตที่สูงมาก ได้ช่วยเหลือประชาชนทุกรูปแบบผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วย ถูกคุณไสยต่างๆ ต่างก็เข้าไปพึ่งพาเมตตาบารมีจากท่าน ซึ่งท่านก็ช่วยเหลือได้หมดและเป็นผลสำเร็จเป็นที่โจษจันกล่าวขวัญกันมาตลอด

วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้นมีประสบการณ์เข้มขลังมากด้านคุ้มครองแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน คนในพื้นที่รู้กันดีเพราะท่านเป็นเกจิที่ปฏิบัติดีมาตลอด คนเมืองคอนเคยบอกไว้ว่ายิ่งถ้าเป็นพระของท่านศักดิ์สิทธิ์ขนาดอธิษฐานให้ตัดรุ้งขาดได้เลย

พ่อท่านเขียว

พ่อท่านเขียว วัดหรงบน ปากพนัง

วัดหรงบนอยู่อำเภอปากพนัง พ่อท่านเขียว ท่านมีชื่อเดิมว่า เขียว นามสกุลยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่เท่าที่สืบทราบหลวงพ่อเขียวท่านเกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๔ ท่านเกิดในตะกูลชาวนา มีพี่น้อง ๔ คน ชาย ๒ หญิง ๒ พ่อท่านเขียวเป็นพี่ชายคนโตน้องชายและน้องสาวเสียชีวิตก่อนท่าน

เมื่อยังเยาว์วัยพ่อท่านเขียวอาศัยพระในบ้านช่วยสอนหนังสือให้อ่านเขียนได้ตามอักขระสมัยท่านชอบศึกษาเล่าเรียนเป็นชีวิตจิตใจท่านตัดสินใจสละเพศฆราวาส เข้าสู่วัดเมื่ออายุได้ ๒๒ปีอุปสมบทณวัดคงคาวดี(วัดกลาง)ปีพ.ศ.๒๔๔๖ ได้รับฉายาว่า อินทมุนี

พ่อท่านเขียว วัดหรงบน

ช่วงหนึ่งท่านเดินธุดงค์ติดต่อกันหลายปีท่านมรณภาพในปีพ.ศ.๒๕๑๙ ศพของพ่อท่านตั้งไว้ที่วัดคงคาวดีหนึ่งคืนพร้อมทำการสวดอภิธรรมจากนั้นรุ่งขึ้นจึงนำศพของพ่อท่านเดินทางไปยังวัดหรงบนปรากฏว่าชาวบ้านเมื่อรู้ข่าวต่างพากันมาร่วมไว้อาลัยพ่อท่านมากมายและมีการสวดอภิธรรมจนครบ ๓ คืนเรียบร้อยแล้ว

ก็จะทำการฌาปนกิจศพพ่อท่านแต่บรรดาลูกศิษย์ต่างแยกความคิดกันออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายหนึ่งให้เผาศพพ่อท่านแต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้เก็บศพพ่อท่านไว้ไม่ต้องเผา

พ่อท่านเขียว

สรุปความคิดเห็นแล้วส่วนใหญ่ต้องการให้เผาศพพ่อท่านจะได้หมดห่วงหมดกังวลจึงทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้เผาทำการต่อรองขอว่าถ้าเช่นนั้นถ้าเผาศพพ่อท่านครบ ๑ ชั่วโมงแล้วไม่ไหม้ขอให้เก็บศพไว้บูชาเมื่อเป็นเช่นนี้ต่างก็ตกลงกันได้ด้วยดีเมื่อทำการจุดไฟที่กองฟืนชั่วครู่ไฟก็ค่อยๆลุกลามขึ้นไหม้ทั้งดอกไม้จันทน์ที่บรรดาญาติโยมนำไปวางไว้ทั้งด้านบนและด้านข้างโลงศพและฟืน

ที่รองอยู่จนควันโขมงแล้วค่อยๆ โหมแรงขึ้นๆ จนท่วมโลงศพ และฟืนที่สุมอยู่โดยมีฝ่ายที่ไม่อยากให้เผาต่างก็คอยจับเวลาดูนาฬิกาว่าครบ ๑ ชั่วโมงเมื่อไหร่ทั้งที่ไฟได้โหมแรงขึ้นๆจนกองฟืนที่สุมไว้เกือบหมดแล้วแต่เวลาก็ยังเหลืออีกมากทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้เผาต่างออกอาการหงุดหงิดตามๆกัน

เมื่อเสียงฆ้องเสียงระฆังตีรัวดังขึ้นตามที่นัดหมายกันไว้ว่าครบชั่วโมงนาทีนั้นโดยไม่มีใครคาดคิดปรากฏว่าศพของพ่อท่านเป็นปกติไม่มีร่องรอยใดๆให้เห็นว่าผ่านการถูกเผามาเลยแม้แต่จีวรก็ยังเหลืองอร่ามไม่มีร่องรอยถูกเผาเช่นกัน

คนที่เห็นเหตุการณ์ต่างงงงวยตามๆกันเพราะเป็นเรื่องที่สุดอัศจรรย์โดยแท้และพอได้สติบรรดาญาติโยมที่ไปรวมตัวทำการฌาปนกิจศพพ่อท่านต่างเฮโลไปรุมฉีกจีวรของพ่อท่านจนจีวรที่ห่อหุ้มร่างของพ่อท่านหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือ

 พ่อท่านกลาย วัดเขาขุนพนม

พ่อท่านกลาย วิปุโล วัดขุนเขาพนม

วัดขุนเขาพนม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอ พรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากหลักฐานด้านโบราณคดี

ประเภทโบราณวัตถุ และโบราณสถานต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัด สามารถบ่งชี้ได้ว่า วัดขุนเขาพนม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์

วัดขุนเขาพนม

ความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่อ นามว่าพ่อท่านกลาย (พระครูวิบูลย์พนมรักษณ์) พระผู้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ วัดเขาขุนพนมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากที่วัดร้างมาหลายปี เป็นผู้ค้นพบพระพุทธรูปจากถ้ำต่าง ๆ ในเขาขุนพนมมากมาย ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปทองคำ และเงินยวง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พ่อท่านกลายได้เดินเท้า

เพื่อไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่น้ำตกพรหมโลก และได้ทูลถวายพระพุทธรูปเงินยวง ที่พ่อท่านกลายได้รับนิมิตรจากเทวดา ให้ไปนำมาเพื่อถวายแด่กษัตริย์ผู้ซึ่งมีบารมีสูง พ่อท่านกลายได้มรณะภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมศิริอายุได้ ๙๔ พรรษาหปาฏิหารย์ที่เกิดหลังพ่อท่านกลายละสังขาร คือสรีระของพ่อท่านกลาย ซึ่งไม่เน่า ไม่เปื่อย

มีการสร้างมณฑปพ่อท่านกลาย ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นสถานที่เก็บรักษาสรีระของพ่อท่านกลาย นอนสงบนิ่งอยู่ในโลงแก้ว

สังขารของท่านกลาย วิปุโล

สังขารของท่านกลาย วิปุโล อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาขุนพนม ร่างของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย ตั้งไว้ให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้กราบไหว้สักการะ

และนี่ก็คือพระเกจิเมืองนครศรีธรรมราช ที่ยังคงมีผู้คนให้ความเคารพศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน หากใครได้มากราบแล้วเชื่อว่าจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองอย่างแน่นอน

แต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลทั้งหลายทั้งปวง จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับ สภาวะจิตและพฤติกรรม ของผู้ที่รับพระเครื่องไปบูชาด้วย หากเข้าใจและเข้าถึงคำสนของพระบรมศาสดา มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบคุณงามความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

หลีกเลี่ยงการประพฤติทุจริตมิชอบ หมั่นสำรวจตนเองและแก้ไขข้อบกพร่อง ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตตามแนวอิทธิบาท ๔ มีพรหมวิหารธรรมประจำใจ ต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ความสุขสวัสดี ความร่ำรวย ความเจริญรุ่งเรือง

ความสำเร็จทั้งหลายที่ปรารถนา หรือแม้แต่มรรคผลนิพพาน ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะเกิดมีขึ้นได้อย่างแน่นอน หาไม่แล้วต่อให้สิบพ่อท่านก็คงไม่ช่วยคุ้มครองคนไม่ดีอย่างแน่นอน

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร