เข้มระบบติดตามหลังฉีดวัคซีนโควิด เยียวยาผลข้างเคียงจาก ‘วัคซีนโควิด-19’ สูงสุด 4 แสนบาท

704
views

เข้มระบบติดตามหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หากพบผลข้างเคียงรุนแรงเหตุจากวัคซีน ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นสูงสุด 4 แสนบาท

จากที่ประเทศเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคในระยะแรก 2 แสนโดส สำหรับ 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้มีโรคประจำตัว เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับโควิด-19ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปและแรงงาน ใน 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม ปทุมธานีนนทบุรี สมุทรปราการ อ.แม่สอด จ.ตาก ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 และผลการสืบสวนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีน จะมีการชดเชยให้กับผู้ที่รับวัคซีนตามข้อกำหนดมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ซึ่งจะครอบคลุมทุกคน ส่วนแรงงานต่างด้าวหรือคนต่างชาติ ที่รับวัคซีนแล้วถ้าเกิดผลกระทบจะมีการชดเชยตามมาตรการอื่นๆ เช่น อาจจะมีการตกลงของผู้ประกอบการหรืออื่นๆ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในการติดตามผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนนั้น จะติดตามหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นจะติดตามในวันที่ 1,7 และ 30 ผ่านไลน์หมอ โทรศัพท์สอบถามโดยเจ้าหน้าที่รพ. และอสม. โดยหากมีอาการต่อไปนี้ ไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ไข้หรือปวดศีรษะ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย/อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ผื่นลมพิษ อาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ให้รีบไปรพ.พบแพทย์ทันที เพื่อรับการประเมินว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว หรือวัคซีนหรือไม่ ซึ่งหากมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องนอนรักษาในรพ. จะมีการส่งรายงานเข้าไปยังกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรและเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่

“หากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่าเกิดจากวัคซีน จะมีการเยียวยาเบื้องต้นตามข้อกำหนดมาตรา 41 ซึ่งจะครอบคลุมทุกคนไม่เฉพาะผู้ที่อยู่ในสิทธิ์บัตรทองเท่านั้น เพราะการรักษา ตรวจและฉีดวัคซีนโรคโควิด-19ได้มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพรบ.โรคต่อต่อ”นพ.โสภณกล่าว

เยียวยาสูงสุด 4 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ตามมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ประกอบด้วย 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท 2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

อาการข้างเคียงวัคซีน

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยอาการพบบ่อย โดยเฉพาะใน 24- 48 ชั่วโมงแรกหลังฉีด คือ ปวดบริเวณฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนเป็นไข้หนาวสั่นซึ่งก็จะหาย ส่วนอาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์ และเป็นอาการที่ต้องจับตามองเกิดขึ้นหลังฉีด เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หน้ามืดเป็นลม อาจเป็นการแพ้รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดได้ในทุกวัคซีนในโลก แต่เกิดขึ้นน้อยนมาก 1 ในหลายๆล้านโดส

“วัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดทั่วโลกแล้วมากกว่า200 ล้านโดส ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯมีอัตราแพ้รุนแรงต่ำมาก และไม่มีใครเสียชีวิต เพราะการฉีดวัคซีนให้ทำในสถานพยาบาลที่มีบุคลากรทางกาแรพทย์ เพื่อให้ยาและแก้ปัญหาแพ้รุนแรงได้ทันท่วงที ทำให้มั่นใจว่าแม้แพ้รุนแรงเกิดขึ้นได้ 1 ในหลายๆล้านโดสก็มีมาตรการป้องกันได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนี้ หากมีอาการทุกอย่างเกิดขึ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยหลังรับวัคซีนโดยเฉพาะ 7 วันแรกให้รีบปรึกษาแพทย์”ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

「 ดูข่าวต้นฉบับ 」

เยียวยาผลข้างเคียงจาก’วัคซีนโควิด-19’สูงสุด 4 แสนบาท

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร