สธ.เผยพบการติดเชื้อในที่ทำงานเพิ่มขึ้น เหตุผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่กักตัว แนะเข้มมาตรการองค์กร

845
views

13 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และนพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย

โดย นพ.จักรรัฐกล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 1 ปีของการพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกที่แถลงไปเมื่อปี 2563 เป็นผู้ป่วยหญิง จากอู่ฮั่น ส่วนการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 157 ราย ยอดสะสม 6,754 ราย แบ่งเป็นคนไทย 47% เมียนมา 40% กัมพูชา 2% และอื่นๆ 10% แม้กราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ ต้องติดตามแนวโน้มการระบาดในสัปดาห์หน้า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อใน 60 จังหวัด มีพื้นที่สีเขียวไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา 20 จังหวัด พื้นที่สีแดงที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย 10 จังหวัด

สำหรับ จ.สมุทรสาครได้รับกำลังใจและการสนับสนุนทีมทางการแพทย์เสริมทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น จากโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่ร่วมปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนามวัดโกรกกราก ทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค และทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ จากเขตสุขภาพที่ 8 รวม 15 ทีม ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงานควบคุมโรค จ.สมุทรสาคร ส่วนแนวโน้มพบมีผู้ติดเชื้อลดลง แต่อาจพบเพิ่มขึ้นอีกจากการค้นหาเชิงรุก

“ขณะนี้เราพบการติดเชื้อในสถานประกอบการมาจากพนักงานที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อยู่ระหว่างรอผลการตรวจไม่กักตัว จึงต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ เน้นย้ำมาตรการองค์กร เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้พนักงาน หากพบผู้ติดเชื้อต้องตรวจคัดกรองพนักงาน และกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน รวมถึง อสม.ช่วยกำกับติดตามด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ปรับมาตรการให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรก” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ของ กทม. จำนวนผู้ป่วยยังไม่สูงเท่าระลอกแรก เป็นการติดเชื้อไม่มีอาการถึง 49% ขณะที่ระลอกแรกพบติดเชื้อไม่มีอาการเพียง 29% มีรายงานผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค (PUI) จำนวนมาก แสดงว่าระบบเฝ้าระวังในพื้นที่ยังเข้มข้น โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนสำคัญใน กทม. คือ กรณีเชื่อมโยงสมุทรสาคร และกรณีสถานบันเทิง คือ ย่านปิ่นเกล้า ธนบุรี และบางนา แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือ ขณะนี้เริ่มพบการระบาดในครอบครัวและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง จึงต้องย้ำมาตรการเฝ้าระวังในสถานประกอบอย่างเข้มข้น

“ขณะนี้เราพบการระบาดเชื่อมโยงกับหลายพื้นที่ จากการที่กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่กักตัวยังไปในหลายพื้นที่ทำให้แพร่เชื้อไปได้รวดเร็ว เช่น กรณีบ่อนพนันพัทยา เชื่อมโยงสถานบันเทิงใน กทม.และเชียงใหม่ เริ่มจากมีผู้ป่วย 3 ราย นำเชื้อไปติดบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานในสถานบันเทิง ส่วนอีกตัวอย่างเป็นนักเที่ยวนำเชื้อไปติดพนักงานคนใกล้ชิด ครอบครัว และผู้ที่มาเที่ยว ส่วนกรณีเชื่อมโยงกับร้าน New Jass Plaza มีผู้ป่วย53 ราย ติดเชื้อในครอบครัวค่อนข้างน้อย แต่จะไปแพร่ให้เพื่อนร่วมงานและผู้ที่ไปมาหาสู่กันจำนวนมาก”นพ.วิชาญกล่าว

นพ.วิชาญ กล่าวว่า กทม.ได้ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เฝ้าระวังผู้มารับบริการและชุมชนต่างด้าว ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายใน กทม. ปัจจุบันมี 2,200 กว่าราย จุดเสี่ยงสำคัญคือ ตลาด ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ค้าจากสมุทรสาคร ตั้งเป้าตรวจผู้ค้าทุกรายที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโดยการตรวจน้ำลาย ปัจจุบันตรวจแล้ว 1.2 หมื่นราย พบผู้ป่วย 14 ราย และกำลังวางแผนเก็บตัวอย่างน้ำลายอีก 1.8 หมื่นราย ครอบคลุมตลาดที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ส่วนมาตรการของแรงงานต่างด้าวได้กำหนดจุดด่านตรวจไม่ให้เคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าวโดยจะนำเสนอ ศบค.กทม.อนุมัติต่อไป

ส่วนกรณีเด็กอายุ 3 เดือนติดเชื้อโควิด 19 เป็นการติดเชื้อในครอบครัวในเขตพื้นที่บางบอน ซึ่งในครอบครัวมี 5 คน พบติดเชื้อ 3 คน คือ แม่อายุ 40 ปี และลูกชาย 2 คน อายุ 7 ปีและ 3 เดือน จากการสอบสวนโรคพบว่า เพื่อนของสามีมารับประทานหมูกระทะที่บ้าน ต่อมาเพื่อนที่มาเยี่ยมมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ไปตรวจพบการติดเชื้อ จึงแจ้งมาที่ครอบครัว เมื่อไปทำการตรวจจึงพบการติดเชื้อและนำเข้าสู่การรักษาแล้ว

「 บทความต้นฉบับ 」

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร