14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ได้ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1991 สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคเบาหวาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก และชวนให้ประชาชนทั่วโลกร่วมกันตรวจสุขภาพโรคเบาหวานประจำปีสม่ำเสมอ
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงเป็นแผลง่ายหายยาก ชาปลายมือปลายเท้า
ความเสี่ยงโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมบริโภคที่ไม่ถูกหลักโภชนาการที่ดี รวมไปถึงพฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย สิ่งที่น่าห่วงและถือเป็นภัยเงียบของโรคนี้คือ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเกือบครึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรค โดยเฉพาะในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ยิ่งแทบจะไม่แสดงอาการเลย ที่สำคัญผู้ป่วยเบาหวาน หากไม่ควบคุมโรคให้ดีจะมี อายุสั้นลง อันเกิดมาจากภาวะแทรกซ้อนทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ ตาบอด ไตวาย อัมพฤกษ์ โรคแผลเรื้อรัง เป็นต้น
อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ชาปลายมือปลายเท้า เบื่ออาหาร หิวบ่อย กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย
สายตาพร่ามัวมองไม่ชัดเจน เป็นแผลหายยาก คันตามผิวหนัง ปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง
หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อ้วน ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวานมาก่อน ผู้มีไขมันในเลือดสูง
ผู้มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กก.
คำแนะนำในการป้องกันโรคเบาหวาน
▪︎ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลี่ยงรสหวาน มัน เค็ม
▪︎ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
▪︎ มีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
▪︎ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายหายยาก หรือชาปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
นอกจากนี้ ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การรับประทานยา การเข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการป่วยที่อาจผิดปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขและองค์กรเอกชน ดำเนินการเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพิ่มกิจกรรมทางกาย จัดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือน การป้องกัน และการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย โดยเน้นบทบาทการดำเนินงานของเครือข่ายสหวิชาชีพด้านสุขภาพร่วมกัน ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของระบบบริการสุขภาพต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422