การทำบุญ ๑๐ วิธีให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วง แบบรวดเร็วทันใจ

3246
views

บุญ คือ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำความดี ผลบุญช่วยหนุนนำชีวิตให้มีแต่ความราบรื่น รุ่งโรจน์โชติช่วง ในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ ได้แก่

๑.ให้ทาน หรือ ทานมัย อันหมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับและสังคมโดยส่วนรวม การให้ทานนี้อยู่ที่ไหนๆก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเงิน เช่น การแบ่งของกินให้กับแม่บ้านที่ทำงานหรือยาม เป็นต้น ข้อสำคัญ สิ่งที่บริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นควรเป็นสิ่งยังใช้ได้ มิใช่เป็นการกำจัดของเหลือใช้ที่หมดอายุ หมดคุณภาพให้ผู้อื่น ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ

๒.รักษาศีล หรือ สีลมัย คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีลเป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมิให้ตกต่ำลง เช่น ไม่ไปเป็นชู้เป็นกิ๊กกับใครที่ทำงาน ทำให้ครอบครัวเขาไม่แตกแยก เป็นแม่ค้าไม่โกหกหลอกขายของไม่ดีแก่ลูกค้า เป็นพ่อบ้านไม่กินเหล้าเมายา ทำให้ลูกเมียมีความสุข เพื่อนบ้านก็สุข เพราะไม่ต้องทนฟังเสียงรบกวนจากการทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาศีลและเป็นหนึ่งในการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วย

๓.เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆบูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน เช่น คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร คาถาหลวงปู่ทวด เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำอย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเราไปสู่สิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ

๔.การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า การประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนจะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยประพฤติต่อผู้ใหญ่ และการที่ผู้ใหญ่แสดงตอบด้วยความเมตตา หรือการอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคลหรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้นเป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข จึงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน

๕.การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย พูดง่ายๆว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้างในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ เช่น ช่วยพ่อแม่ค้าขายไม่นิ่งดูดาย ช่วยสอดส่องดูแลบ้านให้เพื่อนบ้านยามที่เขาต้องไปธุระต่างจังหวัด ช่วยงานเพื่อนที่ทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ให้กำลังใจแก่เพื่อนที่มีความทุกข์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง และผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย

๖.การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียวหรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว เช่น จะทำบุญสร้างระฆัง ก็ให้คนอื่นได้ร่วมสร้างด้วย ไม่คิดจะทำเพียงคนเดียว เพราะคิดว่าทำบุญระฆังจะได้กุศลกลายเป็นคนเด่นคนดัง เลยอยากดังเดี่ยว ไม่อยากให้ใครมาร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าวจะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น

๗.การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น เช่น เพื่อนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานมา ก็ร่วมอนุโมทนาที่เขามีโอกาสได้ไปทำบุญในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ไม่อิจฉาเขา แม้เราไม่ได้ไป ก็อย่าไปคิดอกุศลว่าเขาได้ไปเพราะชู้รักออกเงินให้ เป็นต้น การไม่คิดในแง่ร้ายจะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอเพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม

๘.การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรมจะทำให้เราได้ฟังเรืองที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ซึ่งการฟังธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระท่านโดยตรง แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือเป็นการฟังจากผู้รู้ต่างๆ และธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรมในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

๙.การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆแก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมาและปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย

๑๐.การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ หรือจะพูดง่ายๆว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง ๙ ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์และให้ผลได้ไม่เต็มที่ ดังจะได้กล่าวถึงเกณฑ์การวัดบุญต่อไป

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร