กยศ.เผยปีนี้มีนักเรียน นักศึกษามาขอกู้ยืมเงินมากกว่าปีก่อน คาดว่าเกิดจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองตกงาน ขาดรายได้
วันนี้ ( 2 พ.ย. 63 ) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงการให้เงินกู้ยืมปีการศึกษา 2563 ว่า ในปีนี้มีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาขอกู้ยืมเงินกับ กยศ.เพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1เม.ย.-16 ต.ค.2563 มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาขอกู้ยืมมาแล้ว 628,000 คน เพิ่มจากปีก่อนที่ขอกู้ยืมมา 538,000 คน คิดเป็นวงเงินขอกู้ยืมที่ 37,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 34,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปล่อยกู้ยืมไป 27,000 ล้านบาท
ภาพรวมปีนี้มีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนชัดเจน หากดูในส่วนจำนวนผู้ขอกู้ยืมจะมากกว่าเดิมถึง 90,000 คน ขณะที่วงเงินขอกู้ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครอง ครอบครัวนักเรียน นักศึกษาประสบปัญหาขาดรายได้ บางส่วนก็ตกงาน จึงต้องให้บุตรหลานมาขอกู้ยืมเงินกับ กยศ.เพื่อนำไปศึกษาเล่าเรียน
ในปีที่ผ่านมา กยศ. ได้ปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ จากเดิมที่กำหนดรายได้ไม่เกินครัวเรือนละ 200,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็นไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาทต่อปี ซึ่งช่วยให้ครอบครัวที่มีรายได้ระหว่าง 20,000-30,000 บาทต่อเดือน และมีลูกหลาน รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากได้เข้ามากู้ได้
นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังได้มีการปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาทต่อเดือน โดยระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มจากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,800 บาทต่อเดือน ส่วนระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี เพิ่มจาก 2,400 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายในปัจจุบันที่สูงขึ้น จึงทำให้ยอดวงเงินการขอกู้ยืมในปีนี้ปรับตัวสูงกว่าเดิมอย่างชัดเจน
นายชัยณรงค์ ยืนยันว่า แม้ปีนี้จะมีนักเรียน นักศึกษาต้องการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เงินกองทุนฯ ยังมีเพียงพอปล่อยกู้ให้ครบได้ทุกคนอย่างแน่นอน เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19