“ทำสวนยาง 10 ไร่ ช่วงที่ผ่านมายางทั้งราคาตก แถมยังมาเจอโรคใบร่วงเข้าให้อีก รายได้ที่น้อยอยู่แล้วน้อยลงไปอีก จากที่เคยกรีดยางได้วันละ 160 ลิตร หดหายไปครึ่งหนึ่ง เหลือแค่ 80 ลิตร เลยต้องคิดหารายได้เสริม ตอนแรกคิดจะเลี้ยงหอยขม แต่ดูแล้วตลาดไม่มีคนซื้อ จะเปลี่ยนมาเลี้ยงแมงดานา หาตลาดไม่ได้อีก แถมราคาแมงดาก็แพง ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้คนคงไม่ซื้อกันแน่ เลยมาลงตัวที่ปูนา
เพราะได้ศึกษาข้อมูลจากยูทูบ และได้ไปพูดคุยกับคนเลี้ยงแบบครบวงจร ทั้งเลี้ยง ทั้งแปรรูป ที่พัทลุง ถึงได้รู้ว่าทุกวันนี้เขาผลิตปูนาส่งให้ลูกค้าแทบไม่ทัน เรื่องตลาดเขาบอกว่าไม่ต้องห่วง ถ้าขายแถวบ้านไม่ได้ ทางเขารับซื้อหมด เลยตัดสินใจลงมือทำ”
วรรณภา สุวรรณขำ ชาวสวนยางพารา ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปูนาข้างบ้าน ที่ทำรายได้ดีกว่ากรีดยาง แถมทำงานสบายกว่า วุ่นวายแค่ให้อาหารตอนเย็น ไม่ต้องตื่นกลางดึกมากรีดยาง
ส่วนวิธีการเลี้ยง วรรณภา บอกว่า สามารถเลี้ยงได้ทั้งบ่อดินและบ่อปูนซีเมนต์ แม้บ่อดินจะต้นทุนค่าบ่อจะต่ำกว่า แต่จะมีปัญหาเรื่องจัดการน้ำเสียทำได้ยาก ไม่เหมือนบ่อปูนถึงจะแพงกว่า การจัดการจะง่ายกว่า เพราะด้านล่างสามารถใส่ท่อพีวีซีเพื่อความสะดวกต่อการถ่ายน้ำ
ถ้าคิดจะเลี้ยง ขั้นแรกควรทำบ่อเลี้ยงไว้ 3 บ่อ…บ่อสำหรับพ่อแม่ปูผสมพันธุ์ บ่ออนุบาลลูกปูวัยอ่อน และบ่อเลี้ยงลูกปูเพื่อขาย
“สร้างบ่อปูนเสร็จ ยังไม่สามารถนำปูมาลงเลี้ยงได้ เพราะบ่อใหม่ๆ ปูนจะกัดปู ฉะนั้นต้องทำให้ฤทธิ์ปูนซีเมนต์เจือจางก่อน ด้วยการเติมน้ำผสมน้ำส้มสายชูใส่บ่อทิ้งไว้สัก 2 สัปดาห์ จะให้ดีใส่หยวกกล้วยสับลงไปแช่ด้วย แต่ถ้าไม่มีให้ใส่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้ายังไม่มั่นใจว่าลงปูได้หรือยัง ให้เอาปลาหางนกยูงตัวเล็กๆ มาทดลองปล่อยลงบ่อไปก่อน ถ้าปลาไม่ตาย แสดงว่าบ่อพร้อมที่จะเลี้ยงปูได้แล้ว ใส่น้ำให้สูงประมาณ 10 ซม.”
จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ปูนามาลงเลี้ยง จะหาจากธรรมชาติหรือซื้อมาก็ได้ สำหรับอัตราส่วนของปูตัวผู้กับปูตัวเมีย วรรณภาแนะว่า ให้ลงอย่างละเท่ากัน ลงพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่ ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม.
วางเศษไม้และทางมะพร้าวเพื่อให้เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของปูนาในช่วงกลางวัน พร้อมปลูกพืชพรรณไม้น้ำเพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยและเป็นแหล่งอาหารของปูนา อาทิ ผักบุ้ง ผักตบชวา
“ถ้าได้พ่อแม่พันธุ์อายุ 3 เดือน จะผสมพันธุ์ได้แล้ว และจากนั้นอีก 2 เดือนจะเริ่มสลัดลูกปู ให้จับแยกแม่ปูไว้ในบ่ออนุบาล แม่ปู 1 ตัว จะให้ลูกปูประมาณ 500-700 ตัว เมื่อสลัดลูกจนหมด ให้ย้ายแม่ปูไปอยู่ในบ่อพ่อแม่พันธุ์เหมือนเดิม เพื่อให้ผสมพันธุ์รอบใหม่ แม่ปูตัวหนึ่งสามารถให้ลูกได้ 4-5 รุ่นเลยทีเดียว”
สำหรับเรื่องอาหาร วรรณภา บอกว่า จะใช้อาหารปลาดุกเม็ดเล็กเสริมด้วยข้าวสวยหุงสุกคลุกเคล้าให้เข้ากัน หว่านประมาณ 1 กำมือในช่วงเย็น เนื่องจากปูนาจะออกหากินตอนกลางคืน และหมั่นดูแลบริเวณที่อยู่ของปูให้สะอาดโดยต้องเก็บเศษอาหารที่ปูกินไม่หมดทิ้ง
และคอยสังเกตน้ำเน่าเสีย ถ้าน้ำเริ่มมีกลิ่นเน่าให้ถ่ายเปลี่ยนน้ำใหม่
และที่ละเลยไม่ได้ ต้องเก็บปูที่ก้ามหลุดออกจากบ่อ เพราะจะส่งผลให้โดนปูตัวอื่นมารุมทำร้ายและตายได้ เพราะทิ้งไว้ให้ตาย นอกจากจะทำให้น้ำเน่า ยังจะเกิดเชื้อราขึ้นทำให้ปูเป็นโรคได้ง่าย
ส่วนอาหารใช้การเลี้ยงอนุบาลลูกปู ในช่วง 15 วันแรกควรให้ไรแดง, หนอนแดง, เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร…หลัง 15 วันไปแล้วให้ปลาสับหรือกุ้งฝอย, อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก
เมื่อลูกปูมีอายุได้ 30 วัน นำไปปล่อยลงบ่อเลี้ยงลูกปู เลี้ยงต่อไปจนอายุได้ 3 เดือน สามารถจับขายได้แล้ว…ปูวัยนี้จะมีขนาด 40 ตัวต่อ 1 กก.
จะได้ราคาขั้นต่ำ กก.ละ 80 บาท แต่ถ้าเป็นฤดูแล้งที่ฝนไม่ตก ปูนาในธรรมชาติไม่มี ราคาจะพุ่งขึ้นไปถึง กก.ละ 160 บาท เลยทีเดียว
สิ่งที่ วรรณภา ชอบและหลงใหลเป็นที่สุดในการเลี้ยงปูนา นั่นก็คือ…มีช่องทางจำหน่ายได้หลายแบบ ทั้งขายเป็นปูสด ขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ คู่ละ 100 บาท และยังสามารถนำแปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย
ที่สำคัญ ลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์แค่ครั้งแรกครั้งเดียว…หลังจากเลี้ยงได้แล้ว สามารถหาพ่อแม่พันธุ์ได้จากในบ่อของตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหาแต่อย่างใด.
กรียา เต๊ะตานี