“คำว่า ตรัสรู้ ก็คือ เข้าไปรู้ความเป็นจริง รู้ความเป็นจริงของขันธ์ห้า ว่าสุดท้ายมันไม่มีตัวตนที่แท้จริง
พอรู้ตัวนี้ มันก็แค่ไม่ยึด แต่ก็ไม่ได้ไปละเขา เพราะตัวที่เข้าไปรู้ขันธ์ห้า มันก็เป็นขันธ์ห้า เช่นกัน และตัวที่เข้าไปรู้มันก็ไม่เที่ยงเช่นกัน และตัวที่เข้าไปรู้ มันก็ไม่มีตัวตน เช่นกัน จึงไม่ยึดทั้งสองสิ่งเลย เราไม่แบกทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และตัวผู้รู้ด้วย สองส่วนก็เป็นภายนอกและภายในนั้นเอง ภายนอกก็เห็นหมด สิ่งที่ถูกรู้ก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวตน
แต่เราเคยย้อนดูตัวที่เข้าไปรู้หรือเปล่า ตัวที่เข้าไปรู้ก็เป็นตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นขันธ์ห้าเช่นกัน สิ่งที่ถูกรู้ก็มาจากขันธ์ห้า ตัวผู้รู้ก็มาจากขันธ์ห้า ตัวผู้ยึดก็มาจากขันธ์ห้า เราก็ยึดเราเป็นผู้เข้าใจ เราก็ไปหลงทุกอย่างที่เป็นอาการของขันธ์ห้า ว่าเป็นเรา และมาหลงว่าเราเป็นผู้หลง มันก็เป็นธรรมชาติที่ออกมาจากขันธ์เท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็ยึด เดี๋ยวมันก็ไม่ยึด เดี๋ยวมันก็โง่ เดี๋ยวมันก็ฉลาด
แล้วเราจะเอาอะไรกับของไม่เที่ยงมาเป็นสาระ มาเป็นเรา สติ สมาธิ ปัญญา เรามาอาศัย เราก็ยังไปหลง สติของเรา สมาธิของเรา ปัญญาของเรา ทั้งๆที่มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมีสติ เดี๋ยวขาดสติ ก็มาจากกองขันธ์ห้าเช่นกัน ราคะ โทสะ โมหะ มันก็เป็นธรรมชาติของขันธ์ห้า เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี แล้วเราจะไปแก้ไขได้ยังไง ขันธ์ห้ามันเป็นธรรมชาติของขันธ์ เรามาจากสิ่งไม่มี มาอาศัยสิ่งนี้ชั่วคราว แล้วสุดท้ายก็กลับไม่สู่ความไม่มีเหมือนเดิม
ขันธ์หลงขันธ์ เราจะละไปอะไรเขาล่ะ แค่รู้เท่านั้นเอง แล้วก็อยู่กับเขาไป นี้คือการตรัสรู้ความจริง และเห็นความจริง อยู่กับความจริงให้ได้ เราก็ไม่ฝืนความจริงทั้งหมด เรายอมรับว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ เป็นทุกข์จริงๆ ไม่มีตัวตนจริงๆ คือการเข้าถึง พระไตรลักษณ์ (ถอนเราออกจากเรา มันก็ไม่มีเรา)
เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของขันธ์ห้า เราก็ปล่อยขันธ์ห้าให้เป็นอิสระ ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกันและกัน ขันธ์ก็มีอยู่ เราก็มีอยู่โดยอิสระ ถอนอุปทานความยึดมั่นก็จบงาน …”
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์ชานนท์ วัดป่าเจริญธรรม