ตรัง | 8 อำเภอยังอ่วม! แม่น้ำตรังทะลักท่วมกลางดึก ชาวบ้านอพยพอาศัยวัด

1302
views
แม่น้ำตรังทะลักท่วมกลางดึก

16 ตุลาคม 2563 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดตรังยังคงประสบอย่างต่อเนื่อง โดยมวลน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากจากแม่น้ำตรังยังคงสูงและแรง ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณสองฝากฝั่งในที่ลุ่มได้รับความเดือดร้อน

โดยที่กระแสน้ำแม่น้ำตรังไหลทะลักผ่านลำคลองในเขต อ.เมือง อ.กันตัง ก่อนจะไหลสู่ทะเลตรังในพื้นที่ อ.กันตัง ต่อไป ล่าสุดจังหวัดตรังประสบภัยน้ำท่วม 8 อำเภอ ประกาศภัยพิบัติ 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง และ อ.สิเกา

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ชาวบ้านหลังวัดแจ้งเขตเทศบาลนครตรังซึ่งเป็นพื้นที่กระทะ ต้องอพยพครอบตรัง มาอาศัยศาลาวัดนอนค้างแรมภายในวัด หลังจากที่น้ำจากคลองนางน้อยและแม่น้ำตรังไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือน 60 ครัวเรือน และน้ำสกปรกมีกองขยะ ขนาดใหญ่และเป็นที่ตั้งของโรงงานยางปล่อยน้ำเสีย ชาวบ้านหวั่นว่า จะประสบปัญหาด้านสุขภาพ โรคฉี่หนูและน้ำกัดเท้า ระดับน้ำสูง 30 ถึง 150 เซนติเมตร ต้องใช้เรือในการสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้าน โดยผู้ที่มีบ้านเรือน 2 ชั้นยังคงอาศัยบ้านบนชั้นที่ 2 ได้ ส่วนบ้านติดพื้นดินชั้นเดียวก็อพยพมาอาศัยนอนค้างแรมที่วัดแจ้ง ทั้งในศาลาและกางเต็นท์

แม่น้ำตรังทะลักท่วมกลางดึก

นางดวงแข รักพงษ์ ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณดังกล่าว กล่าวว่า ตั้งแต่น้ำท่วม หน่วยงานเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ ตอนนี้ชาวบ้านอพยพ ขนสิ่งของมาอาศัยนอนที่วัดกันเป็นจำนวนมาก ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม เกิดปัญหากับชาวบ้านคือ น้ำกัดเท้า และที่สำคัญที่สุดคือ โรคฉี่หนู น่ากลัวมาก เพราะน้ำท่วมท่วมสูงต้องลุยน้ำบ้างนั่งเรือบ้าง ทุกเส้นทางเข้าหมู่บ้านน้ำท่วมหมด พื้นที่ตรงนี้เป็นที่รองรับน้ำจากทุกพื้นที่ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำตรัง เป็นที่รับน้ำเพราะเป็นท้องกระทะ ปีนี้ที่น้ำท่วมเร็วเพราะพนังกั้นน้ำที่ ต.หนองตรุด แตกน้ำเลยไหลเข้าท่วมรวดเร็ว ตอนนี้ชาวบ้านขนสิ่งของออกมาหมดแล้ว

ส่วนในพื้นที่ ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณหลังศาลหลักเมืองตรัง ซึ่งติดแม่น้ำตรัง มีการอพยพสิ่งของมานอนบนเต้นท์ที่ทางอบต.จัดเตรียมไว้และมีการเตรียมเรือหางยาวใช้ในการสัญจรเนื่องจากถนนถูกตัดขาดเป็นบางช่วง ประชาชนเดือดร้อนเพิ่มอีกหลายร้อยครัวเรือน โดยเฉพาะที่ ต.ควนปริง หมู่ 6 ชาวบ้านจำนวน 22 ครัวเรือน

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา

ขณะที่ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ล่าสุดจังหวัดตรังมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 อำเภอ 32 ตำบล 6 เทศบาล 10 ชุมชน 141 หมู่บ้าน 1,425 ครัวเรือน 2,474 คน

อำเภอที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 อำเภอ ดังนี้ อำเภอเมืองตรัง จำนวน 8 ตำบล 29 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 7 ชุมชน 511 ครัวเรือน 188 คน อำเภอห้วยยอด จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน 22 ครัวเรือน อำเภอกันตัง จำนวน 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน 23 ครัวเรือน อำเภอปะเหลียน จำนวน 7 ตำบล 14 หมู่บ้าน 27 ครัวเรือน อำเภอย่านตาขาว จำนวน 6 ตำบล 52 หมู่บ้าน 3 เทศบาล 3 ชุมชน 268 ครัวเรือน 902 คน อำเภอสิเกา จำนวน 1 ตำบล 9 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 50 ครัวเรือน อำเภอวังวิเศษ จำนวน 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน 387 ครัวเรือน 1,384 คน และอำเภอนาโยง จำนวน 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน 137 ครัวเรือน ในส่วนพื้นที่ดินสไลด์มี 2 แห่ง คือ หมู่ที่ 2 ต.บางสัก อ.กันตัง และชุมชนหนองยวน 2 เทศบาลนครตรัง อ.เมืองตรัง

“ประชาชนที่เดือดร้อนจะมีคนที่เดือดร้อนมาก ปานกลาง และกระทบน้อย ให้ทุกอำเภอจัดลำดับความสำคัญ อยากให้นายอำเภอลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก มอบสิ่งของซ้ำไม่เป็นไร ถ้าเขามีความเดือดร้อนและมีความจำเป็นมาก แต่อย่างไรก็มอบให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน ในภาพรวมทุกอำเภอได้มีการรายงานทุกระยะ

ส่วนในเรื่องของชลประทานขอให้รายงานผลการดำเนินงานทุกครั้งในการประชุม ในเรื่องการหย่อนหินแกรเนี่ยน บล็อกน้ำที่บางรัก สูบน้ำ สถานการณ์เป็นอย่างไร น้ำแห้งเมื่อไหร่ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ดูแลสถานการณ์น้ำท่วม แก้ไขปัญหาต่อไป สำหรับในเรื่องของข้อมูลที่ทางอำเภอรายงานก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน” นายขจรศักดิ์ กล่าว

ดูต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร