เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นางสาวสุพัตรา แสวงศรี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ อินเดีย เปิดเผยว่า รมว.พาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย กล่าวในงานสัมมนาของคณะกรรมการยางของอินเดีย (Rubber Board)
ว่าอินเดียกำลังประสบปัญหา การผลิตยางธรรมชาติ (Natural Rubber: NR) ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตยางในตลาดโลกด้วย โดยรัฐบาลได้ขอให้สมาคมผู้ปลูกยาง พยายามส่งเสริมการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยใช้เทคโนโลยี
” พื้นที่เพาะปลูกในอินเดียมีศักยภาพในการผลิตยางธรรมชาติได้มากกว่า 1 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วงปี 2562-63 ผลิตยางได้เพียง 7.12 แสนตันเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่ประมาณ 1.2 ล้านตัน ส่งผลให้เกิดช่องว่างที่ต้องนำเข้ายางจาก ต่างประเทศโดยไม่จำเป็นปีละประมาณปีละ 4-5 แสนตัน
ทั้งนี้ผลิตภาพและต้นทุนการผลิตยางของอินเดียยังมีข้อจำกัดด้าน ทักษะของชาวสวนยางที่ทำให้เกิดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวสูง และมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 24% ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งอินเดียจะยกระดับการเกษตรให้สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ รองรับการผลิตยางล้อที่กาลังเติบโต ”
น.ส.สุพัตรา กล่าวต่อว่า ดังนั้นหากอินเดียสามารถยกระดับผลิตภาพการปลูกยางพาราได้ การส่งออกยางธรรมชาติจากไทยไปอินเดียอาจมีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยปัจจุบัน ยางพาราจากไทยมีสัดส่วนประมาณ 7.57% ในการนำเข้าของอินเดีย และลดลงต่อเนื่อง 3 ปี ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม และ มาเลเซีย มีการขยายตัวต่อเนื่อง
เนื่องจากความได้เปรียบด้านราคาและปริมาณที่สามารถส่งมอบได้ ในขณะที่รัฐบาลไทยได้พยายามเจรจาขอลดอากรนำเข้าแล้ว แต่เป็นไปได้ยากเนื่องจากยางเป็นสินค้าที่อ่อนไหวทางการเมืองสำหรับอินเดียด้วย
” อย่างไรก็ตามสินค้าที่ไทยพอมีโอกาสในการขยายตลาดในอินเดียคือ ยางสังเคราะห์จากปิโตรเคมีหรือโพลิบิวทาไดอีน (Butadiene Rubber: BR) ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 15 ของอินเดีย แต่ก็มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี แม้ว่าอินเดียจะพยายามผลิตยางสังเคราะห์เองและขึ้นภาษีนำเข้ายางประเภทนี้เป็น 10% แต่อินเดียก็น่าจะยังต้องนำเข้ายางสังเคราะห์ไปใช้ในการผลิตยางล้อในช่วง 1-2 ปีที่อินเดียกำลังยกระดับการผลิต
โดยเฉพาะล้อรถที่ใช้งานหนัก อาทิ รถกระบะ รถบรรทุก รถบัส และ รถแทรกเตอร์ในระยะยาว คาดว่าตลาดมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากการใช้ยางที่ทำจากปิโตรเคมีเป็นยางที่สังเคราะห์จากสารชีวภาพ หรือบิวทาไดอีนชีวภาพ เพื่อให้ยางล้อที่หมดอายุการใช้งานแล้วสามารถนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่มีการ เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกษตรกรไทยในเครือข่ายการผลิต ”
ที่มา ข่าวสด