6 ตุลาคม และ 14 ตุลาคม 2563 จับตา (ดาวอังคารใกล้โลก) 62.70 ล้านกิโลเมตร

1107
views

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า ช่วงเดือนกันยายนหากสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในตอนกลางคืน จะเริ่มเห็นดาวอังคารสว่างเด่นชัดอยู่บนท้องฟ้า เป็นสัญญาณให้รู้ว่าดาวอังคารจะกลับมาใกล้โลกอีกครั้ง

ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดคือ ช่วงวันที่ 6 – 14 ตุลาคม 2563 โดยดาวอังคารจะโคจรอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม ห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร ค่าอันดับความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ -2.6 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

แต่หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน จากนั้นดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) ในวันที่ 14 ตุลาคม หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป

“ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 4 มีขนาดเล็กกว่าโลกครึ่งหนึ่ง พื้นผิวปกคลุมไปด้วยฝุ่นสนิมเหล็ก จึงเห็นปรากฏเป็นสีส้มแดงเป็นที่มาของชื่อ Mars ในภาษาอังกฤษที่ตั้งตามชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของกรีกโรมัน พื้นผิวดาวมีสภาพคล้ายทะเลทราย แต่มีอุณหภูมิต่ำ เป็นดาวเคราะห์ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุด วงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรีเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ทำให้ระยะห่างของดาวอังคารในช่วงใกล้โลกแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ซึ่งดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก ๆ 15 – 17 ปี”นายศุภฤกษ์ กล่าว

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับสังเกตการณ์ดาวอังคาร เพราะมีระยะทางที่เข้าใกล้โลก และมีความสว่างมาก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน สดร. เตรียมจัดสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุด” วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 และ “ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์” ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น.

จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมส่องดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ สังเกตพื้นผิวดาวอังคารและน้ำเเข็งขั้วใต้บนดาวอังคาร พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ กระจุกดาวทรงกลม M4 กระจุกดาวคู่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ 1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353 2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 044-216254 3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395 4) สงขลา : หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411

ดาวอังคารใกล้โลก

ดูต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร