ธรรมชาติของขันธ์ห้า กับ จิต เขาแยกกันอยู่แล้ว โดยขันธ์นั้นเขาทำหน้าที่อยู่อย่างอิสระ ถ้าไม่มีจิตมาอาศัยขันธ์อยู่ อาการและสภาวะทั้งหมดของขันธ์ก็จะไม่มี ตัวจิตนั้นเขาไม่มีอาการ ไม่มีกิริยาและไม่มีสภาวะอะไรเลย เพราะตัวจิตเขาคือ “ผู้ไม่มี” และตัวจิตก็ไม่ใช่จิต เป็นอะไรที่เราไมเห็นหรือหมายอะไรเขาได้ จะไปกำหนดรู้อาการของเขา
พึงกำหนดที่จิตว่าเขาคือผู้ไม่มี ที่เรากำลังเห็นว่าเขาทำงานบางครั้งเขารู้ บางครั้งเขาไม่รู้ บางครั้งก็มีสติทัน บางครั้งก็ลังเลสงสัย บางครั้งก็เข้าใจ บางครั้งก็ไม่เข้าใจ นั่นเราจงรู้เถิดว่าเรากำลังเห็นขันธ์ทำงานอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา ตั้งอยู่ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธรรมชาติหนึ่งเรียกว่าขันธ์ห้า อย่าไปบังคับให้เขาให้เป็นอะไรได้ เพราะเขาคือธรรมชาติ เราต้องตั้งฐานของความไม่มีไว้ นั่นคือเราที่เรียกว่าจิต
ฉะนั้นอย่าได้หวั่นไหวกับสิ่งที่มีทั้งหมด จงปล่อยให้เขาทำงานไปแบบปกติ เราจงอาศัยขันธ์ตัวสุดท้ายคือ วิญญาณขันธ์ แค่รู้อย่างเดียวแต่อย่าได้เข้าไปแทรกแซงหรือให้ความหมายกับสิ่งที่ถูกรู้ที่เป็นสภาวะและกริยาอาการทั้งหมด เหลือไว้แค่สักแต่ว่ารู้ เขาจะทำงานอย่างไรก็ช่าง เพราะสิ่งนั้นเป็นเพียงแค่มายามาหลอกเรา เป็นของชั่วคราวที่จะต้องเสื่อม และดับไปพร้อมกับรูปคือธาตุทั้งสี่อย่างแน่นอน
นี่คือความจริง จงรู้จักอดีตของเขา ปัจจุบันของเขา และอนาคตของเขา จุดจบก็กลับไปสู่ความไม่มี เหมือนอดีตที่เขาเคยไม่มีมา
แล้วเราจะไปแก้ไข หรือไปยึดมั่นถือมั่นให้เสียเวลาทำไม ไม่มีประโยชน์ ทั้งเสียเวลาเปล่า จะทำขันธ์มีภาระมากขึ้น เพิ่มทุกข์ให้กับขันธ์อีก ลำพังตัวขันธ์เขาก็หนักในตัวของเขาอยู่แล้ว จงปล่อยวางและปลงธุระเสีย เพื่อความอิสระของจิตที่เขาไม่มีภาระอะไรอยู่แล้ว เพราะเขา คือ “ผู้ไม่มี” จิตเขามีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เกินกว่าจะให้ค่า แม้แต่เรียกเขาว่าจิตก็ยังไม่ใช่จิตอย่างแท้จริง เพราะจิตปราศจากทุกๆ สิ่งและปราศจากทุกๆ สภาวะอยู่แล้ว
นั่นจึงเรียกจิตเห็นจิต เพราะสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่จิต แต่กลับเป็น “สมมุติของขันธ์ทั้งหมด” จิตนั้นเห็นไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ และหมายรู้ไม่ได้ เพราะเขาคือสภาวะของ “วิมุตติ” ถ้าหมายได้ เรียกได้ คือ “สมมุติ” ทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ในโลกธาตุนี้
พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท
๗ มกราคม ๒๕๕๙