ธาตุ ๔ เสียสมดุล จะเกิดโรคอะไรบ้าง? ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุเด่น เป็นธาตุประจำตัว เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน”
ธาตุเจ้าเรือน หมายถึง องค์ประกอบของธาตุทั้ง ๔ ที่รวมกันอย่างปกติ แต่จะมีธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งเด่น หรือมากกว่าธาตุอื่นๆ ซึ่งจะเป็นบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธาตุกำเนิด” ภายหลังอาจเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ให้ความหมายของชีวิตว่า ชีวิต คือ ขันธ์ ๕ (อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุดิน (๒๐ ประการ) ธาตุน้ำ (๑๒ ประการ) ธาตุลม (๖ ประการ) ธาตุไฟ (๔ ประการ)
ภาวะธาตุ ๔ เสียสมดุล
หากร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุลของธาตุทั้ง ๔ บุคคลนั้นจะมีปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายด้วยอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับธาตุนั้นๆ โดยอาการเจ็บป่วยที่ปรากฏจะแสดงอาการให้เห็นตามธาตุต่างๆ ดังนี้
ธาตุดิน
มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุดิน ๓ ประการ ด้วยกันคือ
หทยังหรือหทัยวัตถุ (หัวใจ) หมายถึง ความสมบูรณ์ของหัวใจ การทำงาน การเต้น ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น โรคที่เกิดมักเกิดจากการทำงานของหัวใจ
อุทริยัง (อาหารใหม่) หมายถึง อาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่ๆ โรคที่เกิดมักเกิดจากการกินอาหารที่ผิดปกติเรียกว่า “กินผิด” คือกินไม่ถูกกับธาตุ กินอาหารไม่สะอาด กินอาหารแสลงโรค เป็นต้น
กรีสัง (อาหารเก่า) หมายถึง กากอาหารในลำไส้ใหญ่ที่จะออกมาเป็นอุจจาระ ลักษณะหรือกลิ่นของอุจจาระเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ อุจจาระหยาบ ละเอียด แข็ง เหลว กลิ่นเหมือนปลาเน่า ธาตุน้ำเป็นเหตุกลิ่นเหมือนหญ้าเน่า ธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูด ธาตุลมเป็นเหตุกลิ่นเหมือนซากศพ ธาตุดินเป็นเหตุ เป็นต้น
ธาตุน้ำ
มักจะเจ็บป่วยด้วยของเหลว หรือน้ำภายในร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุน้ำ ๓ ประการ ด้วยกันคือ
คอเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณลำคอ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมือกในจมูก ลำคอ หลอดลมตอนต้น เช่น มีเสมหะ ไซนัส ไข้หวัด เป็นต้น
อุระเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณทรวงอก และช่องท้องส่วนบน ได้แก่ เสมหะ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับทรวงอกและปอด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคกระเพาะ เป็นต้น
คูถเสมหะ หมายถึง ของเหลวที่อยู่ในช่องท้องส่วนล่าง หรือระบบขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ โรคที่เกิดมักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เมือกมูกในลำไส้ น้ำในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ท้องเสีย บิดมูกเลือด ริดสีดวงทวาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น
ธาตุลม
มักจะเจ็บป่วยด้วยระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบประสาท โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุลม ๓ ประการ ด้วยกันคือ
หทัยวาตะ หมายถึง ภาวะจิตใจ โรคที่เกิดมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ ความหวั่นไหว ความกังวล ทำให้เกิดการแปรปรวนด้านอารมณ์ได้
สัตถกะวาตะ หมายถึง ลมในร่างกายที่แหลมคมเหมือนศัสตราวุธ ซึ่งเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ และเส้นเลือดฝอยแตก ตีบตัน หรือเป็นอัมพาต อาการปวด อาการชา เป็นต้น
สุมนาวาตะ หมายถึง การไหลเวียนของโลหิตและระบบการทำงานของประสาท สมอง ไขสันหลัง โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับการเจ็บหลัง การชัก การกระตุก ความดันโลหิต ลมจากหัวใจ และหลอดเลือดใหญ่ กลางลำตัว
ธาตุไฟ
มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากขบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยมีสิ่งที่ควบคุมความเจ็บป่วยของธาตุไฟ ๓ ประการคือ
พัทธปิตตะ (ดีในฝัก) หมายถึง ขบวนการผลิตน้ำดีของตับ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับ ระบบน้ำดีภายในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะการผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ ตับอักเสบเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดน้ำดีอักเสบ เป็นนิ่ว เป็นต้น
อพัทธปิตตะ (ดีนอกฝัก) หมายถึง ขบวนการย่อยอาหารโดยน้ำดีหรือน้ำดีในลำไส้ โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับการทำงานของน้ำดีในลำไส้ ระบบการย่อยอาหาร อาการคือ จุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เหลืองทั้งตัว ถ่ายเป็นสีเขียว เป็นต้น
กำเดา หมายถึง ความร้อนที่เกิดจากขบวนการเผาผลาญ การทำงานของร่างกาย โรคที่เกิดมักเกี่ยวกับอาการตัวร้อน เป็นไข้ ร้อนใน ติดเชื้อ อักเสบ เป็นต้น (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ “คู่มือการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข)
ตรวจธาตุเจ้าเรือนจากเดือนเกิด
ธาตุดิน คือ คนที่เกิดเดือน ๑๑, ๑๒, ๑ หรือ เดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม
ธาตุน้ำ คือ คนที่เกิดเดือน ๘, ๙, ๑๐ หรือ กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน
ธาตุลม คือ คนที่เกิดเดือน ๕, ๖, ๗ หรือเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน
ธาตุไฟ คือ คนที่เกิดเดือน ๒, ๓, ๔ หรือเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม
สนับสนุนโดย : นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ ๑๓๖ เมษายน ๒๕๕๕