รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย
เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (ในพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษากว่าๆ) โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย ร.ศ. ๙๓ เพื่อให้ลูกทาสที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ มีอัตราค่าตัวใหม่ และลดเกษียณอายุค่าตัวลงทุกปี จนเจ้าตัวทาสสามารถจะไถ่ถอนตัวเองได้ จนเป็นไทแก่ตัวเมื่ออายุ ๒๑ ปี อันเป็นการเริ่มดำเนินการเลิกทาสอย่างผ่อนปรน เพื่อให้กระทบกับนายเงินและทาสน้อยที่สุด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๓)นั้น ประมาณว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปีเป็นทาสอีก
เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๘ ก็ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. ๑๒๔” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ ๔ บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
เครดิต wikipedia / การเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย