ครม.อนุมัติงบเพิ่มเติมจ่ายชดเชยโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง วงเงิน 2,347 ล้านบาท พร้อมห็นชอบขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19
วันนี้ (18 ส.ค.63) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ความต้องการการใช้ยางพารางในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ซึ่งกระทบโดยตรงต่อราคายางพาราในประเทศไทย
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพื่อจ่ายค่าชดเชยส่วนต่าง (ระหว่างราคาประกัน-ราคาอ้างอิง) ที่เพิ่มขึ้น ครม.จึงอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จำนวน 2,347.90 ล้านบาท จากเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 วงเงิน 24,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องสถานการณ์ราคายางพารานั้น นายกรัฐมนตรีได้ติดตามราคาในตลาดโลกและราคาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางในประเทศมีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลได้มุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเน้นที่ส่วนราชการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และออกมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและลดปริมาณการผลิตยางพาราออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ด้วย โดยนางสาวรัชดา เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 16/2563 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการดังนี้
1) ขยายระยะเวลาการติดตามเกษตรกรที่ยังไม่มาแจ้งเลขที่บัญชีรับโอน จำนวนไม่เกิน 115,892 ราย ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยให้จ่ายเงินงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย และหากพ้นกำหนด ให้ยุติการติดตามและการโอนเงิน
2) จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตรวจสอบรับรองสิทธิ์อย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว จำนวนไม่เกิน 38,737 ราย โดยจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563
3) จ่ายเงินให้แก่ กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้สิทธิรับเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ เนื่องจากในช่วงแรกมีความซ้ำซ้อนกับสิทธิโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ต่อมาได้สละสิทธิโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว และกรณีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนขอส่งข้อมูลเกษตรตกหล่นจำนวนไม่เกิน 759 ราย ให้จ่ายงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563
4) ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่มาอุทธรณ์และผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ได้ทันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาจำนวนไม่เกิน 269 ราย โดยจ่ายงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 กันยายน 2560