ประมง ดัน ‘ปลิงทะเล’ ขึ้นแท่นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย ขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 7,000 บาท

1510
views

‘ปลิงทะเล’ เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำปลิงทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภค เพราะปลิงทะเลจัดเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงนิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม ซึ่งในประเทศมีการจับปลิงทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาด โดยราคาขายปลิงทะเลสดจากชาวประมง ถ้าเป็นแบบสด จะขายอยู่ที่ ราคา 300–500 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนแบบตากแห้ง ราคาจะยิ่งสูงขึ้นไปถึง 3,000–7,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นเหตุให้ปลิงทะเลถูกจับขึ้นมาจำนวนมากจนไม่สามารถเกิดทดแทนได้ทัน ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงมุ่งที่จะผลักดันให้ปลิงทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย

ทั้งนี้ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้เคยมีการศึกษาการเพาะพันธุ์ปลิงทะเล ชนิด H.scabra จนสำเร็จในปี 2551 และต่อมามีการศึกษาพัฒนาเทคนิคการอนุบาลลูกปลิงทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการรอด และเพิ่มผลผลิตเพื่อนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและทดลองเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการเกี่ยวกับปลิงทะเล จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงปลิงทะเล (Holothuria scabra, jaeger 1833) และการเพิ่มผลผลิตในการเพาะเลี้ยงโดยใช้ฮอร์โมนควบคุมการพัฒนาต่อมเพศและการผลิตเซลล์สืบพันธุ์

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการถึง 3 ปี (พ.ศ.2556–2559) จึงประสบความสำเร็จได้เทคนิคในการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงทะเลระยะต่างๆ รู้ถึงข้อมูลเบื้องต้นในการเลี้ยงปลิงทะเล ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของปลิงทะเล ข้อมูลระบบการสืบพันธุ์ การพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ และได้ชนิดใช้ฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในปลิงทะเล หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2562 (วันที่ 2 ม.ค. 2562 – 1 ม.ค. 2563 : ระยะเวลา 1 ปี) จึงได้มีโครงการการพัฒนาต่อยอดการเพาะเลี้ยงปลิงทะเล Holothuria scabra เชิงพาณิชย์ จนกระทั่งได้เทคนิคการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลิงทะเลในที่กักขัง ได้ข้อมูลการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ของปลิงทะเลที่รวบรวมจากแหล่งธรรมชาติสามารถกำหนดช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการเก็บรวบรวมพ่อแม่พันธุ์นำมาเพาะพันธุ์ ได้เทคนิคการอนุบาลลูกปลิงทะเลให้มีอัตรารอดตายสูงขึ้น และได้รูปแบบการเลี้ยงปลิงทะเล

และล่าสุด คือ โครงการการเลี้ยงปลิงทะเล Holothuria scabra รูปแบบต่างๆ เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ระหว่างวันที่ 15 พ.ค. 2563 – 14 พ.ค. 2564 จะมุ่งเน้นการศึกษารูปแบบการเลี้ยงปลิงทะเลแบบต่างๆ ทั้งในบ่อคอนกรีต บ่อดิน การเลี้ยงผสมผสานกับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ และการเลี้ยงในคอกทะเล ฯลฯ โดยจะเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่การเพาะพันธุ์และอนุบาล การรวบรวมและลำเลียงพ่อแม่พันธุ์ การขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การให้อาหาร ส่วนประกอบอาหาร การสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์ ฯลฯ เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ นี้จะได้ข้อมูลในการนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรต่อไป

“กรมประมง เชื่อมั่นว่าในอนาคตปลิงทะเล จะกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างกว้างขวางแน่นอน ด้วยสรรพคุณทางโภชนาการ ซึ่งตอบโจทย์คนรักสุขภาพในยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรักษาฟื้นฟูทรัพยากรให้คงอยู่และมีใช้อย่างยั่งยืนก็เป็นหน้าที่หลักที่กรมประมงที่จะดำเนินการควบคู่กันไป” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว

สำหรับข้อมูลปลิงทะเล (Sandfish) Holothuria scabra หรือที่รู้จักว่า ‘ปลิงขาว’ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่หน้าดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเล ประเทศไทยพบมากในแนวหญ้าทะเลชายฝั่งทะเลอันดามัน (พังงา ภูเก็ต พระบี่ ตรัง และสตูล) เป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีน และคอลลาเจน (คอลลาเจนมากกว่าหูฉลาม และขาไก่) และทำหน้าที่ช่วยลดสารอินทรีย์ในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยปลิงทะเลจะใช้หนวดจับตะกอนดินที่มีสารอินทรีย์ปะปนอยู่เข้าสู่ทางเดินอาหารแล้วดูดซับสารอินทรีย์ไว้ หลังจากนั้นจึงขับถ่ายออกมาเป็นตะกอนดินที่สะอาด จึงนับว่ามีความสำคัญในระบบนิเวศทางทะเลด้วย

อ่านต้นฉบับ >

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร