สดร. เผยถึง ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือฝนดาวตกวันแม่ ในคืน 12 สิงหาคม ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ครึ่งข้างแรม แสงจันทร์รบกวนตลอดปรากฏการณ์ ชี้อาจสังเกตได้ยาก
โดยปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า ฝนดาวตกวันแม่ มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 60 – 110 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากในคืนดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์กึ่งข้างแรม จะมีแสงจันทร์รบกวนตลอดปรากฏการณ์ จึงสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างยาก
สำหรับ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับ 2 รองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์ – ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ จนเกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า