ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ เปิดทางให้ “ผู้ป่วย-หมอพื้นบ้าน-แพทย์แผนไทย-เกษตรกร” สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่าย หรือมีกัญชาไว้ในครอบครองได้
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วย แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และเกษตรกร ที่ร่วมกับผู้ได้รับอนุญาตผลิตสมุนไพรสามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้ โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคและปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์
ทั้งนี้ กฎหมายเดิมกำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐหรือผู้ขออนุญาตที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เห็นด้วยและสนับสนุนที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอแก้กฎหมายยาเสพติดเพื่อคลายล็อกกัญชา ให้ผู้ป่วย-เกษตรกรและเอกชนสามารถปลูกได้ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ท้องถิ่นและส่งเสริมอุตสาหกรรมยามีผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ
สภาเภสัชกรรม เสนอกำหนดเกณฑ์ควบคุมปลูกกัญชา
รศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม เห็นด้วยกับร่างกฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยปลูกกัญชาเพื่อรักษาโรค แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบันใช้ปรุงยา รวมทั้งภาคเอกชนผลิตยาขายในประเทศและส่งออกได้
แต่การให้ผู้ประกอบวิชาชีพรับรองเพราะไม่มีหลักประกันการรับรองโดยสุจริตอาจเกิดปัญหารับรองโดยไม่สุจริตได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งระบบจึงควรมีบทลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้การรับรองโดยไม่สุจริตและต้องกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ผู้ป่วยควรใช้ตามความจำเป็นไม่ควรนำไปใช้ในทางที่ผิด
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย สามารถทำลายหรือนำยาเสพติดให้โทษของกลางไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บรักษาเป็นเวลานานด้วย
– ทั้งนี้ หลังจากครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ดูข่าวต้นฉบับ >