“เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำตาปี” หลวงพ่อพัฒน์ นารโท บิณฑบาตให้พรเทวดากลางป่าลึก

27921
views
หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

เกจิดังเมืองสุราษฎร์ธานี เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำตาปี “หลวงพ่อพัฒน์ นารโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองปักษ์ใต้ ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนชาวเมืองสุราษฎร์ธานี และภาคใต้มาอย่างยาวนาน.

อัตโนประวัติเกิดในสกุล พัฒนพงศ์ เมื่อวันพุธ เดือน ๖ ปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ ในปีที่ ๑๒ แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ณ ตลาดบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายฉุ้นและนางเนียม พัฒนพงศ์

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ผ่อง แห่งวัดพระโยค ศึกษาเล่าเรียนเนื้อหาวิชาตามควรแก่วัยและตามภูมิพื้นความรู้ของผู้เป็น อาจารย์

ย่างเข้าวัยหนุ่ม ได้สมรสกับนางละม่อม ต่อมาภรรยาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้คลอดบุตรออกมาเป็นผู้หญิง แต่ถึงแก่กรรมภายหลังคลอดได้ไม่นานนัก ท่านเสียใจเป็นอันมาก ทำให้ท่านตัดสินใจหันหน้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท ท่านอุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ใน พ.ศ.๒๔๓๐ ณ อุโบสถวัดพระโยค โดยมีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์และเจ้าอธิการวัดโพธิ์ ต.บ้านตลาดบน (ยึดถือตามรายงานมณฑลชุมพร ร.ศ.๑๑๙) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อกล่อม วัดโพธิ์ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ วัดบางใบไม้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “นารโท” หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระโยค เป็นเวลาหลายพรรษา

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงพ่อพัฒน์ นอกจากยังความสงบเย็นเกื้อกูลความก้าวหน้าในทางธรรม สำหรับตัวท่านเองแล้ว ยังได้สร้างคุณูปการหลายประ การให้แก่พระศาสนา ราชอาณาจักรและประชาชนอีกด้วย โดยท่านได้เคยดำรงตำแหน่งและหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนเกื้อกูลสนับสนุนการศึกษา

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

หลวงพ่อพัฒน์ เป็นพระสังฆาธิการที่ เป็นธุระจัดการ เอาใจใส่ในความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ลูกวัด ตลอดจนกิจวัตรทางศาสนาต่างๆ นอกจากกิจการศาสนาแล้ว หลวงพ่อพัฒน์ ยังได้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาด้วย โดยได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองกาญจนดิษฐ์ เมื่อประมาณ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐)

หลวงพ่อพัฒน์ดำรงตำแหน่งทางปกครอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านดอนอยู่ประมาณ ๔-๕ ปี แต่ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดติด หลวงพ่อพัฒน์จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง (อำเภอบ้านดอน-เดิม) เมืองไชยา และตำแหน่งอุปัชฌาย์ เพื่อออกไปธุดงควัตร

ด้านวิทยาคม หลวงพ่อพัฒน์ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระเกจิอาจารย์มากมาย อาทิ พระครูสุวรรณรังษี ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อกล่อม พระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ พระอนุสาวนาจารย์ ยังมีพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากวัดเขาหัวลำภู แห่งเขาพระบาท อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พระธุดงค์รูปนี้ เรียกขานกันว่า “พระอาจารย์สุข”

ทั้งนี้พระอาจารย์สุขได้เมตตาถ่ายทอดสรรพวิชา ทั้งด้านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม เช่น การลงอักขระอาคมบนแผ่นเงิน แผ่นทอง ตะกรุด ผ้ายันต์ เป็นต้น

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

วัตถุมงคลของหลวงพ่อพัฒน์ ที่สร้างขึ้นในสมัยท่านยังมีชีวิต คือ พระกสิณ มีทั้งเนื้อดินเผา เนื้อผงผสมว่าน และที่เป็นเหรียญ คือ เหรียญกสิณ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อพัฒน์ ได้มอบภารกิจหน้าที่ของทางวัดไว้กับหลวงพ่อเจียว สิริสุวัณโณ พระภิกษุผู้เป็นน้องชายของท่านให้เป็นผู้ดูแล ส่วนท่านไปหลบปลีกวิเวก โดยใช้ศาลาที่พักศพในป่าช้าเป็นที่พำนัก ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาในพระสัทธรรม

กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕ ( แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ) หลวงพ่อพัฒน์ ได้บำเพ็ญสมาธิภาวนาตั้งแต่หัวค่ำด้วยความสงบเย็น จนเวลาประมาณ ๐๘.๔๓ น. หลวงพ่อพัฒน์ นารโท ได้ละสังขารจากไปอย่างสงบในท่านั่งสมาธิ สร้างความเศร้าสลดและความอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร และพุทธบริษัทของวัดอย่างสุดซึ้ง

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ด้วยหลวงพ่อพัฒน์ มรณภาพในท่านั่งสมาธิ และกาลเวลาผ่านไป ๖-๗ ปี แต่ปรากฏว่าสังขารท่านไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด

ตลอดชีวิตในร่มเงาพระพุทธศาสนา ประกอบคุณงามความดีด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้ว แม้ว่าจะละสังขารไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีที่ได้ประกอบศาสนกิจมาตลอดชีวิต ยังคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองสุราษฎร์อย่างมิลืมเลือน ในฐานะปูชนียบุคคล

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท วัดพัฒนาราม(ใหม่) เป็นเกจิอันดับต้นๆ ของจ.สุราษฏร์ธานี ท่านสร้างพระกสิณ จากนิมิตรสมาธิ เมื่อสร้างออกมา มีปาฏิหาริย์มากมาย และรูปแบบที่แปลกไม่เหมือนใคร ทำให้พระกสิณของท่าน มีสนนราคาสูงมาก เป็นพระในฝันของคนนิยมพระเครื่องทั้งหลาย การที่พระบิณฑบาตกับเทวดานางไม้ เป็นสิ่งที่เคยได้อ่านเคยได้ยินมา แต่ที่บรรยายรายละเอียด แบบที่หลวงพ่อพัฒน์ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า เมื่อท่านปฏิบัติด้านจิตจนแก่กล้า จึงอยากลองอำนาจสมาธิของท่าน ว่าการปฏิบัติของท่าน สามารถแผ่บุญไปให้เทวดาได้หลวงพ่อพัฒน์ จึงเดินทางเข้าป่าลึก ห่างจากบ้านคน ขนาดเดินเป็นวันๆ เมื่อท่านเจอที่สมควรแก่การปักกลด เมื่อตกกลางคืน ท่านจึงปฏิบัตฺิสมาธิขั้นสูง นั่งตั้งแต่หัวค่ำ จนถึงสว่าง เมื่อออกจากสมาธิ จิตท่านอิ่มเอิบไปด้วยบุญ

ท่านได้ห่มจีวรเรียบร้อย อุ้มบาตรไปบิณฑบาต ถ้าใครเห็นท่าน คงสงสัยว่า อยู่ในป่าลึกขนาดนี้จะไปบิณฑบาตที่ไหน ท่านจะอุ้มบาตรเดินไปตามต้นไม้ใหญ่ ท่านจะไปยืนนิ่งสักพัก แล้วก็เปิดฝาบาตร พอปิดฝาบาตร ท่านก็จะให้พรยถาสัพพี ทุกๆต้นไม้ ท่านก็จะทำแบบนี้ทุกครั้ง เมื่อท่านบิณฑบาตพอแล้ว ท่านก็จะไปที่ข้างลำธาร นำน้ำในลำธารมาใส่ในบาตร และฉันน้ำในบาตรนั้น ท่านเล่าว่าน้ำในบาตรนั้น เมื่อฉันลงไป จะเกิดอาการซาบซ่านมีกำลังเกิดขึ้นแบบแปลกประหลาด และจะอิ่มไปตลอดทั้งวัน

เมื่อก่อนเราได้ยินเรื่องบิณฑบาตกับนางไม้ ส่วนมากจะเล่าเกินจริง ว่าจะต้องเป็นข้าวบ้างขนมบ้าง ซึ่งความจริงเทวดาท่านเป็นทิพย์ ท่านจะเอาของหยาบจากที่ไหนมาใส่บาตร เมื่อได้อ่านเรื่องเล่าจากปากหลวงพ่อพัฒน์ จึงเพิ่งทราบว่าข้าวที่เทวดาใส่ มันเป็นทิพย์ ต้องใช้วิธีฉันแบบหลวงพ่อพัฒน์ จึงฉันข้าวทิพย์นี้ได้

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูล – เพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทาน

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร