หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ “พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์” จังหวัดพัทลุง

9746
views
หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ

ประวัติหลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ ท่านเป็นพระเกจิด้านไสยศาสตร์รูปหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พศ.๒๔๒๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู เป็นบุตรนายแก้ว นางนุ้ย หนูแทน เกิดที่บ้านดอนตาสังข์ ต.ปรางหมู่ อ.เมือง พัทลุง

ชีวิตในปฐมวัยไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนนัก แต่สืบทราบว่าท่านเป็นศิษย์ของอาจารย์รอด วัดควนกรวด ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านและได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีที่วัดปรางหมู่ใน มีฉายาว่า ดิสฺสโร มีพระครูอินทโมฬีฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้จำพรรษาที่วัดควนกรวดประมาณ ๕ พรรษา

หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ

จนถึงปี พศ.๒๔๔๖ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากสระว่างลง ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านมารับตำแหน่งสมภาร และจำพรรษาที่วัดนี้ตลอดมาปี พศ.๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูเนกขัมมาภิมณฑ์ เจ้าคณะตำบลไชยบุรี อ.เมือง พัทลุง จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพที่วัดปากสระ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พศ. ๒๕๐๗ อายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๖

หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ เป็นพระที่มีอัธยาศัยดี มีเมตตากรุณา ใจคอเยือกเย็น ถือสันโดษไม่ชอบการสะสมทรัพย์สินสมบัติใดๆ ชอบการอุปการะผู้อื่นโดยเฉพาะบุคคลยากไร้ ท่านจึงเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์มากมาย ทั้งที่ประกอบอาชีพส่วนตัวและเล่าเรียนสำเร็จออกไปรับราชการในหน้าที่การงาน สูงจำนวนไม่น้อย

หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ

ลักษณะพิเศษของท่านคือมีนัยน์ตาคม บางคนเปรียบว่าตาของท่านเหมือนตางูก็มี หลวงพ่อดิษฐ์ชอบการต่อเรือ ถือว่าเป็นงานช่างที่ต้องอาศัยความสามารถสูงอย่างหนึ่ง เรือที่ท่านสร้างนั้นมีหลายลำสามารถออกทะเลแรมคืนไปต่างถิ่นได้ ส่วนเสนาสนะสงฆ์ท่านได้สร้างไว้หลายหลัง ที่ปรากฏอยู่ปัจจุบันเช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สระน้ำ และสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดปากสระ ได้ใช้เป็นสถานศึกษาของเยาวชนสืบมาจากโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนไม่ถึง ๑๐๐ คน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนประมาณ๔๐๐ กว่าคน

งานด้านพัฒนาที่ปรากฏชัดคือ การชักชวนชาวบ้านตัดตัดถนนจากวัดปากสระเชื่อมกับถนนสายพัทลุง-ควนขนุน ช่วยให้การสัญจรไปมาสะดวกสบายไม่ต้องเดือดร้อน ช่วยให้การทำมาหากินของชาวบ้านสะดวกเพิ่มขึ้น สมัยก่อนหมู่บ้านใกล้เคียงวัดปากสระเป็นแหล่งของบุคคลประพฤติมิชอบ มีการลักทรัพย์สิน วัวควายของชาวบ้านอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อดิษฐ์ได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านช่วยขจัดปัดเป่าให้ผ่อนคลายลง

หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ

กล่าวกันว่าท่านได้อาศัยวิทยาคมแก้ปัญหาของชาวบ้านสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี คาถาอาคมของหลวงพ่อดิษฐ์ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวันฉลองอายุของท่านเองในปี พศ. ๒๕๐๖ เรียกว่า คัมภีร์พระเวทย์ หรือพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ พระคาถา มีความตอนหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า ขอท่านจงใช้พระคาถาที่เห็นว่าดี มีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตนและผู้อื่น คนชั่วอยู่กับผีคนดีอยู่กับพระ มีธรรมคุ้มครองและนำคาถาที่ท่านปรารถนาไปใช้ในทางที่จะเกิดผลแก่ตนและผู้ อื่น พระคาถานี้จะได้ผลสมประสงค์และศักดิ์สิทธ์จริง

หลวงพ่อดิษฐ์ ได้สร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พระสังกัจจายน์พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก องค์พิมพ์ใหญ่มีพุทธลักษณะแบบขัดสมาธิเพชร ท้องพลุ้ย ปลายนิ้วชนกัน ส่วนพระสังกัจจายน์พิมพ์เล็กมีอักขระที่อกเป็นตัว นะ เส้นนูน หัวกลับ ด้านหลังมีอักขระเป็นตัว เฑาะว์สมาธิ และนอกจากนั้นยังมีพระปิดตา พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก,พระกลีบบัวเนื้อโลหะ.แหวนพิรอด,ลูกอม,ปลอกแขน,ผ้ายันต์และเสื้อ ยันต์ ฯลฯ

หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร วัดปากสระ

วัตถุมงคลของหลวงพ่อดิษฐ์ล้วนแต่เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ว่าเป็นยอดทาง ด้านมหาอุดอยู่ยงคงกระพัน และมีเมตตามหานิยมแก่ผู้เป็นเจ้าของทั้งสิ้น เคยปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับความขลังของวัตถุมงคลของท่าน หลายครั้ง และที่สำคัญที่สุดคือวันที่ ๑๐ กันยายน พศ.๒๕๒๐พระภิกษุช่วง เขมธมฺโม ผู้เป็นศิษย์ได้นำวัตถุมงคลจำนวนหนึ่งทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสทรงเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง พัทลุง

หลวงพ่อดิษฐ์ นับได้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจิตใจชาวบ้าน โดยเฉพาะชุมชนใกล้วัดปากสระ ให้ฝักใฝ่ด้านประพฤติปฏิบัติธรรม และขยายไปในท้องที่หลายตำบล นับเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพรหมวิหาร ๔ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านอย่างแท้จริง ปรากฏหลักฐานพยานคือ รูปปั้นเท่าองค์จริง ประดิษฐานอยู่ในศาลาด้านทิศเหนือพระอุโบสถ ทุกๆวันสำคัญจะมีชาวบ้านมาแก้บนที่รูปปั้นของท่าน ขอให้พ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ขอความปลอดภัยและโชคลาภต่างๆ

ปัจจุบันนี้มิใช่มีแต่เพียงเฉพาะในท้องถิ่นบ้านปากสระเท่านั้น แต่มีชาวบ้านต่างถิ่นที่รู้เรื่องและศรัทธาต่างได้มาเคารพบูชาที่วัดนี้เป็น ประจำเช่นกัน

ขอบคุณเจ้าของภาพ ขอมูลโดย – itti-patihan.com

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร