26 มิถุนายน “วันสุนทรภู่” กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “บุคคลสำคัญของโลก”

2657
views

26 มิถุนายน “วันสุนทรภู่” กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม”

26 มิถุนายน วันสุนทรภู่

สุนทรภู่ กวีเอก 4 แผ่นดินของไทย พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 – พ.ศ. 2398) เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย

“สุนทรภู่” มีชื่อเดิมว่า “ภู่” เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329) ณ บริเวณด้านเหนือของ “พระราชวังหลัง” หรือก็คือ บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบันนี้ เชื่อว่า หลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน

ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น “สุนทรภู่’ จึงได้อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีก 2 คน ชื่อฉิมและนิ่ม

สุนทรภู่เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนในพระราชวังหลัง และที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) และเข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางในกรมพระคลังสวน โดยสุนทรภู่นั้นชื่นชอบการแต่งกลอนอย่างมาก

เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้แต่ง “นิราศพระบาท” ระหว่างติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เมื่อปี พ.ศ.2350

จนกระทั่งได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ราวปี พ.ศ. 2359 และได้แต่งกลอนบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้ ทำให้รัชกาลที่ 2 โปรดสุนทรภู่อย่างมาก

ระหว่างรับราชการสุนทรภู่ต้องโทษติดคุก แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ

ในช่วงชีวิตรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่มีชีวิตและผลงานที่โดดเด่นเป็นที่พอพระราชหฤทัย จนกระทั่งสุนทรภู่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในวัย 69 ปี ตรงกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

 

ผลงานของสุนทรภู่ มีเป็นจำนวนมาก ดังนี้

นิทานจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ โคบุตร, พระอภัยมณี, พระไชยสุริยา, ลักษณวงศ์, สิงหไกรภพ
นิราศ จำนวน 9 เรื่อง นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศสุพรรณ, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, รำพันพิลาป, นิราศพระประธม, นิราศเมืองเพชร,

สุภาษิต จำนวน 3 เรื่อง สวัสดิรักษา, เพลงยาวถวายโอวาท, สุภาษิตสอนหญิง, บทละคร 1 เรื่อง

บทละครและบทเสภา จำนวน 3 เรื่อง บทละครอภัยนุราช, บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม, บทเสภาพระราชพงศาวดาร

อุปนิสัยสำคัญอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่คือ มีความอหังการ์และมั่นใจในความสามารถของตนเป็นอย่างสูง ลักษณะนิสัยข้อนี้ทำให้นักวิจารณ์ใช้ในการพิจารณางานประพันธ์ซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงอยู่ว่า เป็นผลงานของสุนทรภู่หรือไม่ ความอหังการ์ของสุนทรภู่แสดงออกมาอย่างชัดเจนอยู่ในงานเขียนหลายชุด และถือเป็นวรรคทองของสุนทรภู่ด้วย เช่น

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

 

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร