“อัมพปาลี” (อมราปาลี) หญิงงามเมือง ผู้บรรลุพระอรหันต์

4353
views
อัมพปาลี

เรื่องราวของ “นางอมราปาลี”ซึ่งในพระไตรปิฎก จะเรียกชื่อ แบบภาษาบาลีว่า อัมพปาลี (อมราปาลีเป็นภาษาสันสกฤษ)
เรื่องราวของนางมีดังนี้

อัมพปาลี นามนี้ชาวพุทธส่วนมากรู้จักดี เพราะเป็นนางคณิกาหรือโสเภณีที่สวยงามในเมืองไพศาลี(เวสาลี) แคว้นวัชชี แค่นั้นยังน้อยไป ที่สำคัญคือนางได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและ ภิกษุสงฆ์ในปลายพุทธกาล

เมื่อสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ บ่ายพระพักตร์ไปยังเมืองกุสินาราเพื่อดับขันธปรินิพพาน ผ่านมาทางสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางทราบเข้าจึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ขณะที่นางกำลังเดินทางกลับบ้านนั้น ได้สวนทางกับเจ้าชายลิจฉวีจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าลิจฉวีทราบว่านางอัมพปาลีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไว้ก่อนแล้ว จึงขอ “ซื้อ” กิจนิมนต์นั้นจากนาง หมายความว่า ขอให้นางสละสิทธิ์การถวายภัตตาหาร ในวันรุ่งขึ้นมอบให้พวกเขาเสีย พวกเขาจะตอบแทนให้ด้วยรถม้าสวยงาม ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา นางก็ปฏิเสธ

พวกเจ้าลิจฉวี แม้จะเสนอเงินทองให้มากมายเพียงใด นางก็ยังยืนกรานปฏิเสธ นางบอกว่าการได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใดในที่สุด พวกลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

อัมราปาลี

อัมพปาลีคนนี้มีประวัติอันพิสดาร อรรถกถากล่าวว่า นางเป็น “โอปปาติกะ” (ผุดเกิดที่โคนต้นมะม่วง) พวกราชกุมารแห่งเมืองไพศาลี(เวสาลี)มาพบนางเข้า ต่างจะเอาเป็นสมบัติของตน จึงถึงกับวิวาทกันใหญ่โตเมื่อเรื่องเข้าสู่ศาล ศาลให้พิพากษาว่า “ให้นางเป็นสมบัติของทุกคน” จึงได้แต่งตั้งนางให้เป็นนางนครโสเภณี (หญิงงามเมือง)

(เข้าใจว่าประวัตินางจะ ถูกเสริมแต่ง คงเพราะนางงดงามมาก จึงแต่งประวัติให้เป็นนางไม้ เป็นโอปปาติกะ ความจริงนางคงเป็นสตรีของใครคนใดคนหนึ่ง ในเมืองไพศาลีนั้นครับ)

ตำแหน่งนครโสเภณีสมัยก่อนโน้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ พระราชาแต่งตั้งดูเหมือนจะมีเงินเดือนกินด้วย มิใช่ธรรมดา มีสาวๆ ในความควบคุมดูแลอีกมากสมัยนี้เรียก “มาม่าซัง” อะไรทำนองนั้น

แคว้นวัชชี หัวก้าวหน้ากว่ารัฐอื่น เป็นแคว้นแรกที่มีตำแหน่งนครโสเภณี เพื่อ “ดูด” เงินตราจากต่างประเทศ กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยได้ทราบข่าวว่าที่นครไพศาลีมีนางนครโสเภณีที่ เป็นสมบัติของทุกคน ต่างก็ขนเงินมา “ทิ้ง” ที่เมืองนี้กันปีละจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าค่าอภิรมย์กับนางอัมพปาลี คืนหนึ่งแพงหูฉี่ แต่ก็มี “แขก” ต่างเมืองมาเยี่ยมสำนักเธอมิขาดสาย

อัมราปาลี

ว่ากันอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นแขกพิเศษของนางอัมพปาลี จนได้บุตรด้วยกันมาคนหนึ่ง นามวิมละ หรือวิมล หนุ่มน้อยวิมล เสด็จพ่อนำไปเลี้ยงไว้ในราชสำนักเมืองราชคฤห์ (ผู้เป็นพ่อยอมรับ โดยมิต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ) ต่อมาวิมลได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหัตผล

พระเจ้าพิมพิสารได้แนวคิดไปจากนี้แหละครับ ภายหลังจึงได้แต่งตั้งนางนครโสเภณีขึ้นที่เมืองราชคฤห์ โดยสถาปนานางสาลวดีเป็นผู้รับตำแหน่งคนแรก และข่าวลืออีกนั่นแหละว่า นางสาลวดีได้กำเนิดบุตรชายและบุตรสาวเพราะความเผลอ นางเลี้ยงบุตรสาวเพื่อสืบทอดตำแหน่ง แต่ไม่ปรารถนาบุตรชาย จึงให้คนนำไปทิ้งไว้ใกล้ๆ ประตูวัง เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาพบเข้า นำเด็กน้อยไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เด็กน้อยคนนี้เป็นผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมาแล้วแต่ปางก่อน เมื่อเจริญวัยมาได้ไปศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ กลับมาได้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านนี้คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ น้องสาวของท่านชื่อ สิริมา ต่อมาได้ตำแหน่งนครโสเภณีแทนแม่ ว่ากันว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ แท้ที่จริงคือโอรสพระเจ้าพิมพิสาร กับนางสาลวดี เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารมาก

อมราปาลี

กลับมายังเรื่องของนางอัมพปาลี ทำให้ทราบว่านางอัมพปาลีตอนหลังได้มาบวชเป็น ภิกษุณี ต่อเมื่อมาอ่านอรรถกถาเถรีคาถาจึงพบว่า อัมพปาลีเถรี ที่แท้ก็คืออดีตนางนครโสเภณีชื่ออัมพปาลีนั้นเอง หลังจากถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว นางได้ฟังธรรมจากพระวิมลเถระ (บุตรชายของนาง) รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังแห่งสรีรร่างกายของตน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวคาถาแสดงถึงสัจจะชีวิตของนางน่าจะเป็นเครื่องเตือน สติแก่สตรีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ขอคัดมาบางตอนดังนี้

เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอเพราะชรา
เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอมดุจอบด้วยดอกมะลิ เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา
เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

อัมราปาลี

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้วไม่งามเลย เวลารุ่นสาวจมูกของเรางดงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา
เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา

นางได้พรรณนาความงามของสรรพางค์กาย ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้าว่าล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาชื่นชมของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อนางมาบวช) อวัยวะที่งดงามเหล่านั้นทรุดโทรม เพราะชรา ไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ยืนยันพระราชดำรัสของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่ง

อัมราปาลี

ในอดีตชาติ ๓๑ กัปก่อน ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี อัมพปาลีเกิดในตระกูลพราหมณ์ นางได้ด่าพระเถรีรูปหนึ่งว่าเป็นหญิงแพศยา ตายไปแล้วจึงต้องไปรับกรรมในนรกอยู่นานแสนนาน เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็ต้องเกิดเป็นหญิงแพศยามานับหมื่นชาติ จนถึงพุทธกาลพระพุทธเจ้าองค์ก่อน

อัมพปาลีได้บวชเป็นภิกษุณี เกิดความเบื่อหน่ายเพราะการเกิดในครรภ์จึงตั้งความปรารถนาไว้เสมอว่า ไม่อยากเกิดในครรภ์ ครั้นถึงพุทธกาลปัจจุบัน นางจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์กำเนิดพิเศษ คือ อุบัติขึ้นแล้วโตเป็นสาวทันทีตามคำอธิษฐาน ได้ชื่อว่า อัมพปาลี เพราะอุบัติขึ้น ที่โคนต้นมะม่วง ในราชอุทยานกรุงเวสาลี

อัมพปาลีเป็นหญิงสวยมาก แต่ด้วยยังมีเศษของอกุศลกรรมที่เคยด่าพระเถรีว่าเป็นหญิงแพศยายังไม่หมดสิ้น ทำให้ความสวยของนางเป็นโทษบรรดาเจ้าชายลิจฉวีเห็นนางแล้ว ทะเลาะกัน เพื่อแย่งนางไปเป็นสนม คณะผู้พิพากษาต้องยุติศึก โดยตัดสินให้ อัมพปาลีเป็นหญิงแพศยา เป็นนางคณิกาประจำนคร เป็นสมบัติของทุกคน การแย่งชิงนางจึงสงบลงได้
ด้วยอุปนิสัยที่เคยบวชมาแล้วในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ก่อน

นางอัมพปาลีจึงมีจิตศรัทธาในพุทธศาสนามาก ได้ถวายสวนมะม่วงของตนเป็นอาราม และออกบวชเป็นภิกษุณี ในสำนักของบุตรชาย คือพระวิมลโกณฑัญญะเถระจนเมื่อมีอายุมากขึ้น ความสวยลดน้อยถอยลง ความชราเข้ามาแทนที่ นางพิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นไปของสังขาร รู้เท่าทันไตรลักษณ์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ที่มา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ – หน้าที่ ๓๕๘ / ขอบคุณเจ้าของภาพ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร