กรมควบคุมโรค เตือน ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไทย 3 ล้านคน – ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 เป็นกลุ่มเสี่ยงควรเข้าคัดกรอง
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีดารานักแสดงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีผลมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ว่า ไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ โดยมี 5 ชนิด
ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บีและซี ซึ่งสามารถ
แบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ คือ โรคตับอักเสบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการ คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี มีเพียงร้อยละ 5 – 10 ที่มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และโรคตับอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งแบ่งได้อีก 2 ชนิด ได้แก่ 1. ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent)
และ 2. ชนิดตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมากและเกิดอาการตับแข็ง ในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการตับแข็ง และท้ายสุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ
ทั้งนี้ ผ่านมาในประเทศไทย พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 – 3 ล้านคน ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในประชากรอายุ 30 ปีขึ้นไป
ดังนั้นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี คือกลุ่มประชากรที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป โดยสามารถเข้ารับการคัดกรองโรค ได้ฟรี ณ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ
เนื้อหาต้นฉบับ