ในวันที่เราเริ่มต้นเดินทางออกจากบ้านมาทำงาน และทำกิจกรรมนอกบ้านได้ใกล้เคียงกับปกติ แต่พฤติกรรมเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตใหม่ หรือที่เรียกกันว่า นิวนอร์มอล (New Normal) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เหมือนเดิม แม้ว่าเราจะกลับไปยังสถานที่เดิม ๆ เพราะทุกคนต้องดูแลสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น
ที่มา New Normal หมายถึง “ความปกติในรูปแบบใหม่” พบว่าใช้เป็นทางการครั้งแรกโดย Bill Gross นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ใช้คำนี้ในช่วงปี 2008 นิยามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เกิดการชะลอตัว และกลับมาสู่อัตราเดิม ซึ่งเป็นการใช้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้มีการนำมาใช้ในหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวิถีชีวิตใหม่ หลังโควิด-19 ที่ต้องปรับตัวกันทั้งโลก
สิ่งที่เราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีชีวิตใหม่ในสังคม ตั้งแต่ก้าวออกจากบ้าน New Normal มีอะไรบ้าง มาดูกัน
สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน
เพื่อป้องกันตัวเอง และห่วงใยผู้อื่น การสวมหน้ากากจึงเป็นมาตรการที่ทุกร้านค้าขอความร่วมมือทุกคนให้สวมหน้ากากก่อนเข้าใช้บริการ นิวนอร์มอลต่อจากนี้เราต้องสวมหน้ากากกันทุกวัน จึงเริ่มเห็นหน้ากากผ้าสีสันสวย ๆ แนวแฟชั่นดูสดใสสะดุดตามากขึ้น
ทำงานออนไลน์ Work from Home
บริษัทต่าง ๆ เริ่มมีนโยบายให้พนักงาน Work from Home ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอยู่ และเมื่อจำนวนยอดผู้ติดเชื้อน้อยลง ก็จะทยอยให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้บางส่วน รวมถึงการจัดวางพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม ลดความแออัด
เรียนออนไลน์
โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ก็เริ่มวางแผนตารางเรียนออนไลน์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Meet, Zoom, Microsoft Team พูดคุยสนทนากับคุณครูด้วยการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย
อาคารสถานที่ตั้งจุดคัดกรอง
เนื่องจากโควิด-19 นั้นสังเกตเบื้องต้นได้ด้วยการวัดไข้ จึงจำเป็นต้องมีจุดคัดกรองก่อนเข้าอาคารตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข ผู้ติดต่อราชการ ห้าง ร้าน จะต้องผ่านการวัดอุณหภูมิ และผู้ผ่านการคัดกรองแล้วจะได้รับเครื่องหมายติดที่เสื้อ และขอความร่วมมือให้ลงชื่อก่อนเข้าใช้บริการ
จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน
ในร้านค้าต่าง ๆ ได้จัดวางสินค้าเพื่อให้ลูกค้าหยิบลอง เมื่อมีการสัมผัสร่วมกันจึงต้องลดโอกาสติดเชื้อด้วยการตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ไว้หน้าร้าน ในบริเวณที่พบเห็นได้ชัด เช่น ก่อนทางเข้าร้าน, จุดแคชเชียร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น
ร้านอาหารนั่งแยกโต๊ะ และซื้อกลับมากขึ้น
เห็นได้ชัดว่ายอดสั่งอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อกลับ แทบจะพอ ๆ กันแล้ว จนร้านค้าต่าง ๆ ต้องจัดที่นั่งให้บริการพนักงาน Food Delivery และลูกค้าที่ยืนรออาหารแบบสั่งกลับกันมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคำนึงถึงสุขอนามัยกันมากขึ้น และการจัดโต๊ะที่นั่งในร้าน ก็รับประทานได้โต๊ะละ 1 – 2 คน วางโต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรเพราะเว้นระยะห่าง หรือมีบริการ Drive Thru ให้วนรถสั่งได้โดยลูกค้าไม่ต้องลงจากรถ
ปรับตัวใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
รับเงิน โอนเงิน จ่ายเงิน ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน เป็นอีกช่องทางที่นิยมกันมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการเช็กยอดเงินที่ได้รับจากมาตรการช่วยเหลือ จึงต้องเปิดบัญชีเพื่อใช้งาน Mobile Application รวมถึงการชำระสินค้าบริการ หรือเปิดบัญชีออนไลน์เพื่อซื้อกองทุน ลดระยะเวลาเดินทางไปใช้บริการกับธนาคารที่สาขา
เว้นระยะในการเดินทางสาธารณะ
เพราะต้องร่วมเดินทางกันเป็นเวลานาน ทั้งรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง ต่างต้องทำป้ายเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งเว้นระยะ เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ จึงป้องกันการสัมผัสอนุภาคละอองจากการหายใจ ไอ จาม เบื้องต้นด้วยป้ายกำกับเหล่านี้
ใช้บริการส่งของถึงบ้าน (Delivery)
ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งของส่งถึงบ้าน ทั้งของใช้ อาหาร และยารักษาโรคประจำตัว เพื่อลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล
สุดท้ายนี้ แม้ว่าทั่วโลกจะควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ด้วยความร่วมมือขององค์กร หน่วยงาน และประชาชน แต่หากเราอยู่ที่บ้านหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ก็ต้องคำนึงถึงสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น เรียกได้ว่า New Normal คือทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และต้องติดตามข่าวสารของโรคเพื่อทำความเข้าใจและป้องกันได้ทันท่วงที
ที่มา : แนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข