เปิดตำนาน “พระอุเชนทร์” คู่บุญบารมี “พ่อท่านคล้าย” พระผู้มีวาจาสิทธิ์
พระอุเชนทร์เป็นเทพเจ้าประจำอำเภอฉวางและประจำกรมช้างกลาง ทำด้วยหินทรายแดง มีขนาดหน้าตัก ๐.๒๒ เมตร สูง ๐.๓๓ เมตร เมื่อกรมช้างกลางถูกลดบทบาทลงโดยให้กรมการอำเภอฉวางจับช้างแทน ในอดีตนั้นเมืองนครศรีธรรมราชมีการจับช้างเพื่อส่งเข้าถวายงานในเมืองหลวง และบางเชือกส่งไปฝึกและขายไปยังต่างประเทศ ดังนั้นพระอุเชนทร์จึงมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล
มีเรื่องเล่ากันว่าพระอุเชนทร์แต่เดิมนั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ถ้ำพรรณรา (ในอดีตเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอฉวาง) และถูกนำมาจากถ้ำพรรณราเพื่อนำมาประดิษฐานที่ว่าการอำเภอฉวางเก่าในปีพ.ศ.๒๔๔๒ โดยสมัยนั้นเรียกว่า “วังอ้ายล้อน” ต่อมามีการย้ายที่ว่าการอำเภอ วังอ้ายล้อนจึงถูกทิ้งให้เป็นป่ารกร้าง (ปัจจุบันคือสวนของชาวบ้านอยู่ตรงข้ามกับวัดโคกหาดตั้งอยู่ริมคลองที่ไหลมาจากคุดด้วน) เข้าใจว่าไม่ได้มีการนำพระอุเชนทร์ไปด้วย
หลังจากนั้นก็เกิดสิ่งประหลาดบ่อยครั้งคือ ชาวบ้านมักได้ยินเสียงโห่ร้องเหมือนคนโห่ดัง แหวๆๆ โดยดังมาจากทางวังอ้ายล้อน เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ ๑๐ กว่าปี ชาวบ้านละแวกนั้นมักจะนิยมบนบานต่อพระอุเชนทร์ให้พืชผลไร่นาออกผลดี ไม่ให้ช้างมาเหยียบหรือมาทำลาย โดยชาวบ้านไม่ทราบว่าพระอุเชนทร์ประดิษฐานอยู่ตรงจุดไหนเพียงแต่ไปบนบาน ณ สถานที่ที่พระอุเชนทร์เคยประดิษฐานอยู่ โดยจะบนบานด้วยเทียน ๓ ง่าม คือเทียนที่มัดติดกัน ๓ ด้าม แล้วแยกออกจากกันเป็น ๓ ง่าม
อยู่มาวันหนึ่งนายด้วน และนายเงิน ทองบัว สองพ่อลูกได้บนบานต่อพระอุเชนทร์เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป แต่เขากลับลืมแก้บน ต่อมาขณะที่นายด้วนกำลังเดินทางไปเรียนหนังสือยังวัดสวนขัน มือของนายด้วนเกิดติดกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นายด้วนคิดออกว่าสงสัยจะลืมแก้บนพระอุเชนทร์แน่นอน แต่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ระหว่างทางกลับบ้านคนที่ไปเรียนกับนายด้วนเห็นคนไม่มีหัวถือกระบองยืนขวางทางอยู่ เป็นดังนั้นคนผู้นั้นจึงรีบวิ่งไปบอกพ่อแม่ของนายด้วน เมื่อรับนายด้วนกลับมาจึงทำพิธีขอขมาและแก้บนกับพระอุเชนทร์ เหตุการณ์จึงกลับเป็นปกติ
หลังจากนั้นประมาณปีเศษนายเงินและนายด้วน พากันไปหาหวายเพื่อนำไปขาย ระหว่างที่ทั้งสองฟันลงไปที่โคนต้นไม้ ปรากฏว่าไปถูกกระทบกับหิน ทั้งสองเข้าใจว่าเป็นหินลับมีด พอพลิกดูก็ปรากฏเป็นรูปช้าง มีงวง มีงา มีหัวบริบูรณ์ นายเงินจึงบอกนายด้วนว่า “นี่แหละพระอุเชนทร์” ทั้งสองจึงยกพระอุเชนทร์พิงไว้กับต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น พระอุเชนทร์จึงแสดงอภินิหารทำให้ฝนตกติดต่อกันเจ็ดวันเจ็ดคืน นายเงินคิดว่าฝนตกติดต่อกันหลายวันต้องเป็นเพราะพระอุเชนทร์แน่ จึงกลับไปพลิกเอาหน้าพระอุเชนทร์ลงกับพื้นดิน ฝนที่ตกหนักจึงกลับมาแล้งทันที
พ่อท่านคล้ายได้ทราบถึงเรื่องอภินิหารนี้จากคำเล่าลือกันของชาวบ้าน จึงเรียกนายเงินไปพบ เมื่อพ่อท่านคล้ายทราบเรื่องพระอุเชนทร์โดยละเอียดแล้วถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่๒๖ เมษายน ปีพ.ศ. ๒๔๖๙ พ่อท่านคล้ายพร้อมด้วยสารวัตรเสน, ผู้ใหญ่เลิศ, นายเพิ่มและนายหนู ธราพร, นายพรมและนายรักษ์ เทพศักดิ์, นายเกลี้ยง พลพา ได้พาเรือของเจ๊กกวด เป็นเรือยาวประมาณ ๓ วา ล่องมาทางคลองคุดด้วน ระหว่างนั้นฝนตกหนักมาก ทั้งหมดเดินทางไปจนถึงที่พระอุเชนทร์ประดิษฐานอยู่ พ่อท่านคล้ายได้ทำพิธีอัญเชิญกลางสายฝน โดยจุดเทียนขึ้นมากลางสายฝนโดยเทียนไม่ดับ เมื่อสารวัตรเสนเข้าไปอุ้มพระอุเชนทร์เทียนก็ดับทันที ระหว่างกลับวัดพ่อท่านคล้ายถามว่า “หนักม้ายละบ่าว” สารวัตรเสนตอบว่า “ไม่หนัก” นี่แสดงให้เห็นว่าพระอุเชนทร์รับการอัญเชิญของพ่อท่านคล้ายแล้วนั่นเอง ระว่างทางกลับวัดฝนตกหนักมาก เมื่อถึงวัดสวนขัน มีชาวบ้านประมาณ ๒๐๐ คนมารอรับ ทั้งหมดได้ตั้งขบวนแห่พระอุเชนทร์ไปประดิษฐานที่กลางพระอุโบสถ และทำพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันพระอุเชนทร์องค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนขัน อยู่เป็นคู่บุญบารมีกับพ่อท่านคล้ายตลอดมา
แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกแนวทางหนึ่งว่าตอนที่ย้ายที่ว่าการอำเภอฉวางเก่าจากวังอ้ายล้อนมานั้น ระหว่างทางคนงานผู้ขนย้ายสิ่งของได้ทำพระอุเชนทร์ตกน้ำ โดยไม่สามารถนำขึ้นมาได้ แต่ไม่กล้าบอกให้ใครทราบ หลายปีผ่านไปพระอุเชนทร์แสดงอภินิหาร โดยจะมีเสียงช้างร้องดังมากในเวลากลางคืน ยิ่งเป็นวันพระยิ่งร้องเสียงดัง ทำเอาชาวบ้านละแวกนั้นต่างหวาดกลัว พ่อท่านคล้ายทราบเรื่องนี้จึงบอกว่า “นั่นคือเสียงพระอุเชนทร์” พ่อท่านจึงได้ล่องเรือกับชาวบ้านไปงมเอาพระอุเชนทร์ขึ้นมา ระหว่างกลับวัดเกิดลมแรงและฝนตกหนักมาก พ่อท่านคล้ายพูดว่า “ที่ยังกว้าง ฝนตกไม่ถึงเรือ” ก็เป็นจริงดังนั้นฝนตกไปได้เพียงครึ่งทางก็หยุด โดยฝนตกไล่ตามหลังเรือมาแต่ไม่ถึงเรือ นี่คือบารมีของพระผู้มีวาจาสิทธิ์ พระสมุห์อิ่มเล่าว่า พระอุเชนทร์ก่อนหน้านี้มีงาทั้งสองข้าง มีอิทธิฤทธิ์อภินิหารมากมาย พ่อท่านคล้ายได้ตัดงาออกเสียหนึ่งข้าง
หลังจากนั้นต่อมาพระอุเชนทร์ได้เคยถูกขโมยไปจากวัดในปีพ.ศ.๒๕๑๖ ถูกขโมยไปขายที่กรุงเทพ ๑,๖๐๐ บาท หลวงพ่อเดช, นายสิริ พาณิชกุล, สิบเอกสุฤทธิ์ นวลนุช และโจรกลับใจ ๑ ท่านได้ไปสืบหาจนพบร้านที่เอาไปขายที่กรุงเทพ ได้บอกเรื่องราวต่างๆให้เจ้าของร้านทราบ เจ้าของร้านก็ยอมคืนให้โดยดี โดยไม่คิดเงินและทำบุญมาอีก ๕๐๐ บาท นี่คงเป็นอภินิหารอีกอย่างหนึ่งของพระอุเชนทร์และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าพระอุเชนทร์องค์นี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีของพ่อท่านคล้าย จะต้องประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนขันตลอดไป เมื่อได้พระอุเชนทร์กลับมาพบว่าถูกเจาะพระนาภีหรือสะดือ เข้าใจว่าคนร้ายนึกว่ามีทองคำซ่อนอยู่ พระครูนิมมานโกศล(หลวงพ่อเริ่ม)ได้สร้างฐานและตกแต่งให้สมบูรณ์ ปัจจุบันพระอุเชนทร์ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาสวัดสวนขัน และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเป็นโบราณวัตถุเป็นสมบัติของชาติ
“ความศักดิ์สิทธิ์ พระอุเชนทร์ พระพิฆเนศสุดศักดิ์สิทธิ์ ท่านใดมีบุญได้ไปกราบ พระอุเชนทร์ คู่บารมี พ่อท่านคล้าย ท่านจะประสบสุขความเจริญ ขอสิ่งใดได้หวัง เพราะท่านเป็นเทพแห่งการประทานพรและการประสบความสำเร็จ ในชีวิตการงาน การเงินครอบครัว โภคทรัพย์ ป้องกันสิ่งไม่ดีได้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือพระพิฆเนศมากราบสักการะกัน ณ วัดสวนขัน นครศรีธรรมราช”
บทสวดบูชา พระอุเชนทร์ วัดสวนขัน
โอม ศรีคเณศายะ นะมะหะ
อ้างอิงจากหนังสือพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ โดยษรวัฒน์และคณะ