ประวัติ พ่อท่านพุ่ม “พระครูวิสุทธิจารี” วัดจันพอ อ.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

10431
views
พ่อท่านพุ่ม พระครูวิสุทธิจารี วัดจันพอ

พ่อท่านพุ่ม “พระครูวิสุทธิจารี” วัดจันพอ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ท่านถือกำเนิดเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ ไม่ทราบวันที่ ตรงกับวันอาทิตย์ ปีมะเมีย ณ ต.นาตะเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๘ คน ของนางนุ่ม นายสง ครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรม

ในวัยเด็กเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ได้เข้าศึกษาอักขระสมัยในสำนักของท่านขรัวพุทศรี วัดหัวอิฐ จากนั้นได้ลาท่านขรัว ไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชายตัง(วัดชายนา) ได้ ๒ พรรษา (อายุ ๑๕ ปี) จึงลาสิกขามาช่วยงานทางบ้าน สึกได้ ๒ ปี จากนั้น(อายุ ๑๗ ปี) ได้เข้าหาพระอาจารย์ย่อง อินฺทสุวณฺโณ วัดวังตะวันตก เพื่อศึกษาธรรมวินัยบวชเรียนต่อ

เมื่อท่านมีอายุครบอุปสมบท อายุได้ ๒๐ ปี ประมาณ พ.ศ.๒๔๒๒-๒๔๒๓ พระอาจารย์ย่องได้พาท่านไปยังวัดท่าโพธิ์ฯ เพื่อที่จะไปหาพระอุปัชฌาย์ ในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พระครูการาม (จู) ปธ.๔ วัดท่าโพธิ์ฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ (มรณะภาพ พ.ศ.๒๔๒๗)

พระอาจารย์ย่อง อินฺทสุวณฺโณ วัดวังตะวันตกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูกาชาด ทำหน้าที่ดูแลองค์พระธาตุฯ และปกครองคณะสงฆ์ด้านทิศตะวันตกของพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช(มรณะภาพ พ.ศ.๒๔๖๐)

พระอาจารย์ม่วง วัดท่าโพธิ์ฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อครั้งท่านยังอยู่ในมหานิกาย ก่อนที่จะเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุติ ภายหลังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ มีราชทินนามว่า พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) ปธ.๔ เจ้าคณะมลฑลนครศรีธรรมราช(พ.ศ.๒๓๙๖-๒๔๗๗)

สำเร็จกิจเป็นพระภิกษุสงฆ์ พระพุ่ม ได้จำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ที่วัดท่าโพธิ์ฯ อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้ลาพระอาจารย์กลับมาจำพรรษาที่วัดวังตะวันตก ในอันเตวาสิกของพระอาจารย์ย่องเช่นเดิม ได้ศึกษาพระธรรม เรียนสวดพระปาฏิโมกข์โดยสวดได้ใน ๑ พรรษา และศึกษาสรรพวิชาต่างๆจากพระอาจารย์ย่อง

เมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ท่านเกิดอาพาธหนัก แต่ไม่ละความเพียรในการศึกษาธรรม จนหายจากอาพาธ เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา สมถะเรียบร้อย รูปงามวางตัวเหมาะสมกับการเป็นเพศสมณะ

จากนั้นต่อมาอีก ๒ ปี พ.ศ.๒๔๒๗ พระครูการาม(จู) วัดท่าโพธิ์ฯ ผู้เป็นพระอาจารย์อุปัชฌาย์ถึงแก่มรณภาพ พระพุ่มก็ได้ไปช่วยงานการทำศพจนเสร็จสิ้น [พระครูการาม(จู) ปธ.๔ ก่อนที่ท่านจะไปครองวัดท่าโพธิ์ฯ ท่านครองวัดมเหยงค์มาก่อน]

เรื่องวิชาอาคมพ่อท่านพุ่มก็มีติดตัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของพระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) วัดวังตะวันตก ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระนักพัฒนาเช่นกัน และมีวิชาอาคมอยู่ไม่น้อย ซึ่งได้ถ่ายทอดสู่พ่อท่านพุ่ม นอกจากพระอาจารย์ย่อง ท่านเป็นพระดีและพระขลังแล้วนั้น พ่อท่านพุ่มก็ได้ยึดแนวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระอาจารย์

กล่าวคือ ดีทั้งนอกดีทั้งใน เป็นพระนักพัฒนา บวกกับการปฏิบัติธรรม มีจิตที่บริสุทธิ์ มีเมตตาธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในตัว บวกกับบารมีที่ท่านได้สร้างสมมา สมดังคำกล่าวที่ว่า “พระจะขลังเมื่อพระนั้นปฏิบัติดี มีความบริสุทธิ์ทั้งกายใจ” เมื่อดีใน+ดีนอก+บารมีที่สร้างสม = ความขลัง ตราตรึงในจิตวิญญาณเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้เคารพศรัทธา

ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ไม่ได้ขาด โดยไม่ลดละหรือขาดเลยแม้บางครั้งท่านจะอาพาธ โดยเฉพาะการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ทุกวันตลอดสมณะเพศของท่าน และการขึ้นธรรมมาสแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ มิได้ขาด ยังความจดจำแก่ชาวบ้านจันพอยิ่งนัก เป็นที่ยกย่องกล่าวขานถึงคุณงามความดีและจริยาวัตรจนถึงปัจจุบันนี้

เป็นที่ยึดเหนี่ยวเคารพนับถือในพระคุณของชนทั้งปวง ทั้งชาวบ้าน ชาวจีน แขก ต่างศาสนา ในวันที่ท่านมรณภาพ ชาวบ้านจันพอร้องไห้กันทุกบ้าน ไม่มีหลังไหนที่ไม่หลั่งน้ำตา ตั้งแต่เด็กเล็ก นักเรียน ตลอดถึงคนชรา เปรียบต้นโพธิ์ใหญ่ที่ไว้อิงบารมีล้มลง

มรณภาพ ตามรายละเอียดในหนังสือบันทึกประวัติท่าน พระครูวิสุทธิจารี (พ่อท่านพุ่ม) วัดจันพอ ถึงแก่มรณภาพ วันที่ ๘ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา เวลา ๑๖.๐๐ น. สิริอายุ : ๘๖ ปี ๖๖ พรรษา (ย่างเข้าสู่ปีที่ ๘๗)

เมื่อพ่อท่านพุ่มมรณภาพ มีการเก็บศพไว้ ๔ ปีเศษ ไม่สามารถจัดงานฌาปนกิจได้ในทันทีเนื่องจากเป็นฤดูฝน และบ้านเมืองเป็นเป็นภาวะหลังสงครามโลก ข้าวของแพง ล่วงมา พ.ศ.๒๔๙๔ ในเดือนเมษายน

พระครูวิสุทธิจารี  วัดจันพอ

มีกำหนดงานฌาปนกิจศพพ่อท่านพุ่ม กำหนดงานวันที่ ๑๒-๑๘ เมษายน มีการปลูกโรงเมรุใหญ่ขึ้นที่ลานวัด มีพ่อท่านเอียด อริยวํโส วัดคงคาวง (ในเขียว) หรือพ่อท่านเอียดดำ ศิษย์น้องของท่านเป็นหัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลืองานโดยกำลังแรงและกำลังทรัพย์ มีพ่อท่านกล่ำ พ่อท่านเรือง พ่อท่านน้อม พ่อท่านแปลก

และชาวบ้านรวมทั้งศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศมาร่วมงาน มีการปลูกโรงครัว มีมหรสพ หนังตะลุง โนรา จุดพลุดอกไม้ไฟอย่างครบครัน นับว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งในอดีตของอำเภอท่าศาลา

จวบจนถึง วันจันทร์ ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๒ ในเวลากลางคืนก็ทำการฌาปนกิจ พอรุ่งเช้า วันที่ ๑๙ เมษายน ก็มีการเก็บอัฐิ ทำบุญ ถวายภัตตาหารพระเช้าและเพล เพื่ออุทิศบุญกุศลให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์

– ขอบคุณข้อมูลโดย Krit Jakkrit

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร