เห็บ เป็นปรสิตที่ใช้ปากกัดแล้วดูดเลือดสัตว์และมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งถูกพบมากกว่า 800 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ เห็บอ่อน ซึ่งมีผนังลำตัวอ่อนย่นและนุ่ม และเห็บแข็ง ซึ่งมีลักษณะลำตัวเรียบและมีปากยื่นออกมาจากลำตัว ซึ่งกลุ่มเห็บแข็งเป็นสายพันธุ์ที่มักพบว่ากัดและดูดเลือดมนุษย์
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำวิธีรักษาอาการเบื้องต้นเมื่อถูกเห็บกัดว่า เห็บที่เกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว เป็นพาหะนำโรค คนที่ถูกเห็บกัดจะไม่มีอาการเจ็บเพราะในน้ำลายของเห็บมีสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่
แต่อาการที่เห็นชัดเจนคือมีตุ่มนูนบวมแดง ในบางรายที่มีอาการแพ้อาจมีไข้หรือผื่นลมพิษกำเริบได้ ดังนั้นการรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยให้หายจากอาการผื่น บวมแดง หรือแม้กระทั่งอาการอัมพาตชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว
โดยให้คีบหัวของเห็บแล้วค่อยดึงออกขึ้นตรงๆ ระวังอย่าคีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง จะทำให้อาการเรื้อรังตามมาได้
หลังจากเอาตัวเห็บออกให้ทายาลดการอักเสบ ในกรณีที่อาการบวมแดงรุนแรงจำเป็นต้องฉีดยาใต้ผิวหนังต้องให้แพทย์พิจารณาการรักษาเฉพาะราย โดยทั่วไปอาการที่เกิดจากเห็บกัดมีเพียงอาการเฉพาะที่ พบน้อยมากในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
เช่น เกิดอัมพาตหลังจากถูกเห็บกัด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวจากนั้นระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการอัมพาตมักเกิดหลังจากถูกเห็บกัด 4-6 วัน ดังนั้นควรรีบคีบเห็บออกจากผิวหนังทันทีอาการอัมพาตก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว
แพทย์ผิวหนังเตือน เห็บกัดคนทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้