“ให้พิจารณากาย” หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
” .. “ให้เอาสติควบคุมจิต” ดึงเข้ามาอยู่ที่หัวใจ “ให้ว่า พุทโธ ๆ จนจิตสงบ แล้วใช้ ปัญญาพิจารณากายของตน” ตั้งแต่หนังที่หุ้มห่อร่างกายอยู่นี้
“ให้จิตเห็นเป็นอสุภกรรมฐานเป็นของสกปรกน่าเกลียด” เมื่อตายแล้วไม่มีใครต้องการ “สังขารทั้งปวงตกอยู่ในไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ด้วยกันทั้งนั้น .. ”
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
การเริ่มต้นการพิจารณากาย : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
“…จะใช้บท พุทโธ เป็นบทบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสียแล้วพิจารณากายต่อไป ในการพิจารณากาย เริ่มแรกให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งที่เราสามารถที่จะเพ่งพิจารณา ได้อย่างสะดวกในอาการ ๓๒ เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจนกลับไปกลับมา หรือที่เรียกกันว่าโดยอนุโลมปฏิโลม จนหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป
อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกายเพราะปัญญายังไม่แก่กล้า ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียวทั้งร่างกายความชัดเจนจะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว ถ้าเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใจจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆ ก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน
เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ความสงบ เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว ให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีกให้เจริญอยู่อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ เมื่อจิตมีความชำนาญ เพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธก็ไม่จำเป็น เพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิได้ทันที…”
เพจ “พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น”