การทำจิตให้ผ่องใส : ธรรมบรรยายของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

1328
views
การทำจิตให้ผ่องใส

การทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากโลภโกรธหลง เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะ จิตใจคนห่อหุ้มด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ไม่สงบ มักตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ เมื่อชอบสิ่งใดแล้วก็มักลำเอียงไปในสิ่งนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้บรรยายธรรมเรื่อง “การทำจิตให้ผ่องใส” ไว้ว่า

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
การทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนกาย วาจา จิต มิได้สอนอย่างอื่น สอนให้ปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากายเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้าที่เรียกว่าธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง

สมาธิมี 3 ขั้น คือ ขณิกสมาธิ จิตรวมลงไปสู่ฐีติขณะแล้วพักอยู่หน่อยหนึ่ง ถอยออกมาเสีย อุปจารสมาธิ จิตรวมลงสู่ภวังค์แล้วพักอยู่นานหน่อยจึงถอยออกมารู้นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และอัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ ได้แก่จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมถึงเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความรู้ตัวอยู่ว่า จิตดำรงอยู่ และประกอบด้วยองค์ฌาน 5 ประการ ค่อยสงบประณีตเข้าไปโดยลำดับ

เมื่อหัดจิตอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าทำจิตให้ยิ่ง ได้ในพระบาลีว่า อธิจิตฺ เต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

กายและใจ

การพิจารณากายนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติ อันนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแสดงไว้ มีหลายนัยหลายประการ ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมูลกรรมฐานเรียกว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะสอนเบื้องต้นแห่งการบรรพชาเป็นสามเณร

และในธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ดังนี้ บัดนี้เราก็เกิดมาแล้วมิใช่หรือ? ครั้นเมื่อบุคคลมาปฏิบัติให้เป็น โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาในตนนี้แล้วเป็นไม่ผิด เพราะพระธรรมเป็น อกาลิโก มีอยู่ทุกเมื่อ อาโลโก สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังเลย ฯ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร