“พ่อท่านหีต ปภังกโร วัดคีรีรัตนาราม (วัดเผียน) อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช พระผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้เลิศด้วยบารมีญาณแห่งขุนเขาแดง”
หลวงพ่อหีต พระเถระอาจารย์ผู้ทรงกิตติคุณลือชารูปนี้มีรูปร่าง “ผอมสูง” ผิวดำแดงกร้านแกร่งแฝงไว้ด้วยความทรหดอดทน มือเท้าใหญ่โตที่แสดงถึงการออกธุดงค์รอนแรมตามป่าเขาลำเนาไพรมาหนักโดย สังเกตได้ที่ “ตาตุ่ม” ข้อเท้าทั้งสองของท่านด้านหนาอันเป็นสิ่งที่บ่งบอกให้ทราบว่าท่าน “นั่งสมาธิ” มานานมากแล้ว
สายตาของท่านแข็งกล้ามีขอบสีฟ้ารอบตาดำเป็นประกายแวววาว ตบะเดชะเข้มข้นใครสบตากับท่านเมื่อคราวออกจากญาณสมาบัติเป็นต้องผงะซึ่งแสดง ถึง “ภาวนาสมาธิ” จากอำนาจบารมีญาณของท่านสูงส่งมีอำนาจในตัวเอง การเจรจาแฝงไว้ด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง ศีลาจารวัตรสังเกตดูบริสุทธิ์ผุดผ่อง
เพราะไม่มีสมบัติมากมายมีเพียง “เสื่อเก่า ๆ และหมอนไม้แข็ง” เป็นที่พำนักหลับนอนเท่านั้นซึ่งท่านบอกว่า “ความสบายกายทำให้เกิดทุกข์ เกิดกิเลส เกิดตัณหา มีอุปาทาน ไม่สามารถหลุดพ้นจากสภาวจิต เข้าสู่สภาวธรรมได้”
บารมีญาณของ “พ่อท่านหีต” นับได้ว่าเป็นผู้ล่วงรู้ “กาลเวลาอนาคต” อีกท่านหนึ่งใน “ภาคใต้” เพราะ “พระอธิการหีต ปภงฺกโร ”เคยชี้แนะ “ผู้ทุกข์ยาก” ที่ดั้นด้นไปขอเลขแห่งความร่ำรวยว่า “ให้ไปเอาเลขจากเถ้าแก่หว่าซานแห่งทุ่งสง ตามนั้นแหละจะถูกต้อง” ปรากฏว่าเลขงวดนั้นออกตามคำประกา ศิตของ “พ่อท่านหีต” ทุกประการรวยกันทั้งผู้ให้และผู้ขอตาม ๆ กัน
ทั้งที่เกิดมา “เถ้าแก่หว่าซาน” ก็ไม่เคยรู้จัก “พ่อท่านหีต” มาก่อนเลยโดยเรื่องนี้มีเรื่องเล่ากันว่า “ชาวบ้านตำบลสามร้อยกล้า” ไปนิมนต์พ่อท่านไปงานทำบุญบ้านแต่พ่อท่านไม่นิยม “นั่งรถ” รถทุกชนิดจึงบอกให้กลับไปก่อนแล้วท่านจะตามไปเอง ชาวบ้านตำบลสามร้อยกล้าจึงกลับไปพอถึงบ้านที่มีงานกลับเห็น “พ่อท่านหีต” นั่งอยู่ในพิธีแล้วเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง
ทั้งนี้ก็เพราะท่านย่นหนทางได้ทุกกาลเวลานั่นเองและ “นายสว่าง รัตนมณี” ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็น ปาฏิหาริย์ของ “หลวงพ่อหีต” ด้วยสายตาตัวเองที่สามารถเดิน “บนผิวน้ำข้ามลำธาร” ในป่าซึ่งเชี่ยวกรากและสามารถย่นย่อตัวท่านเอง “สรงน้ำในกา” ขนาดเล็กได้อย่างเหลือเชื่อยิ่ง
“พ่อท่านหีต” เกิดในสกุล “บุญมา” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๕๙ ที่ ต.ถ้ำทอง อ.ทับปุด จ.พังงา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายนอง และนางเหลื่อม บุญมา ด้วยความที่เป็นบุตรชายคนเดียว จึงเป็นกำลังหลักของครอบครัว ที่ต้องช่วยพ่อ-แม่ทำนา จนอายุได้ ๑๙ ปี จึงไปอยู่ที่วัดโคกลอย บิดาพาไปฝากเป็นศิษย์ของ ‘พ่อท่านรักษ์ วัดโคกลอย’ แล้วให้บวชเป็นสามเณร
โดยพระครูภาณีศรีระวัฒน์ แล้วจำพรรษาศึกษาธรรมและอักขระเลขยันต์ทางวิทยาคม ตลอดจนวิปัสสนาธุระกับ “พ่อท่านรักษ์” ได้ ๒ ปีจนกระทั่งมีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๙ ณ อุโบสถวัดชนาธิการาม (สำนักปรุ) ต.นพปริง อ.เมือง จ.พังงา โดยมี พระปฏิภาณพังงารัฏฐ์ เจ้าคณะจังหวัดพังงา วัดประภาสประจิมเขต เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรรักษ์ (รักษ์ สิริวัฑฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ปภังกโร
หลังจากอุปสมบทแล้ว กลับไปจำพรรษาที่วัดโคกลอยอีก ๑ พรรษา จึงออกธุดงค์ไปจนถึงภูเก็ต ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ และเข้าจำพรรษาที่วัดโฆษิตวิหาร เพื่อศึกษาธรรมะกับพระครูสีลรัตนสมณคุณ วัดมงคลนิมิตร ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓
จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดพิชิตสังฆาราม ต.สินไนย อ.เมือง จ.ภูเก็ต จนสามารถสอบนักธรรมเอกได้ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ เมื่อศึกษาธรรมะจนมีความรู้แจ้งแตกฉานดีแล้ว จึงออกธุดงค์เรื่อยไปเพื่อฝึกฝนการปฏิบัติตามขุนเขาลำเนาไพรระหว่างทางพบถ้ำ เขาแดง สงบวังเวงเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจึงเข้าพักปฏิบัติภาวนาอยู่นาน ๑๒ ปี
กระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ ชาวบ้านมาพบท่าน เห็นมีศีลาจารวัตรน่าศรัทธาเลื่อมใส ปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำอย่างวิเวก จึงร่วมกันนิมนต์ให้ท่านลงจากถ้ำมาอยู่ วัดเผียน ตรงบริเวณเชิงเขาแห่งนั้นแล้วช่วยกันจัดแจงปรับปรุงวัดร้าง ให้มีสภาพคืนมาสู่วัดอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา
เคยมีคำร่ำลือกันจากศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่าน ว่า ครั้งหนึ่ง พ่อท่านหีตได้รับกิจนิมนต์ ตอนขากลับ ฝนกำลังจะตกลงมา ลูกศิษย์จึงได้ชวนพ่อท่านขึ้นรถจะไปส่ง แต่พ่อท่านหีตจะขอเดินกลับกุฏิเอง หลังจากพ่อท่านหีตเดินลับทางโค้งไปแล้ว
ลูกศิษย์ได้ขึ้นรถสตาร์ตเครื่องแล้วรีบขับตามทันที แต่พอขับรถไปถึงทางโค้ง ชั่วเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว ปรากฏว่าไม่เห็นร่างพ่อท่านแม้แต่เงาจึงขับรถตามไปยังกุฏิ ปรากฏว่าเห็นพ่อท่านนั่งอยู่ที่กุฏิแล้ว ศิษย์คนนั้นรีบทักพ่อท่าน ว่า “พ่อท่านเดินเร็วจังเลย”
พ่อท่านตอบว่า “ต้องเดินเร็วๆ เพราะเดี๋ยวฝนจะตกแล้ว”เรื่องราวทำนองนี้ ผู้ที่เคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดของพ่อท่าน ยังมีเรื่องราวอัศจรรย์ของท่าน ที่เล่าขานไม่รู้จบ จนกลายเป็นความศรัทธาของคณะศิษย์ที่มีต่อพ่อท่านหีต ได้ละสังขารจากไปด้วยวัย ๗๔ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวนครศรีธรรมราชกราบไหว้บูชาสืบมาจนทุกวันนี้
เรียบเรียง