ประวัติหลวงพ่อองค์ใหญ่ พระประธานในอุโบสถมหาอุตต์ (หลังเก่า) วัดท้าวโคตร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อุโบสถ (หลังเก่า) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์
เข้าใจว่าแต่เดิมบริเวณนี้คงเป็นโบราณสถานเก่าที่ยังปรากฎ เป็นเนินดินปูนอิฐอยู่ด้านล่างและต่อมาได้สร้างอุโบสถ ขนาด ๗ ห้องตั้งทับอยู่ด้านบน
อุโบสถนี้เป็นอาคารทรงไทย มีเสาเรียงรายภายใน ๕ คู่ ด้านหน้า ๒ ห้องทำเป็นพระไลยื่น ผนังก่ออิฐปูน สูงประมาณ ๒ เมตร ช่องบนเป็นเสารับเชิงชาย หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีประตู ๒ บาน
ส่วนทางด้านข้าง (ทิศเหนือ) มีประตูขนาดเล็ก ๑ บาน อยู่ข้างองค์พระประธาน ทางด้านนอกอุโบสถมีใบเสมาหินแกะสลักลวดลาย ที่ละเอียดสวยงามตั้งอยู่ทั้ง ๘ ทิศ
“แต่สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นในสมัยหลังทั้งสิ้น ทั้งกำแพง ผนังและโครงสร้างหลังคา คงมีแต่พระพุทธรูปปางมารวิชัยและใบเสมาเก่ารอบอุโบสถเท่านั้น ที่พอจะยืนยันถึงอายุสมัยได้ว่าคงสร้างขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลาย”
“วัดท้าวโคตร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ แล้วร้างไป จนกระทั่งยุคสร้างเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้สร้างเป็นวัดขึ้น มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี
ภายในวัดมีโบสถ์โบราณ มีพระประธานขนาดใหญ่ประดิษฐานมาแต่ดั้งเดิม เล่ากันว่าสร้างขึ้นในยุคเดียวกับการสร้าง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองนครศรีธรรมราช”
พระประธานในอุโบสถ (หลังเก่า) วัดท้าวโคตร สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๖๑ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๗๙ เซนติเมตร สูง ๖ เมตร สร้างจากหินภูเขาโกรนให้เป็นส่วนต่างๆ ขององค์พระ
ใช้ไม้เจาะหินทำเป็นแกนพระพุทธรูปเพื่อความมั่นคง และฉาบทาด้วยหินภูเขาที่บดเป็นผงผสมกับน้ำอ้อยเช่น เดียวกับการใช้ปูนซีเมนต์ในปัจจุบัน พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์เคร่งขรึม
เป็นลักษณะของชาวปักษ์ใต้ ชาวบ้านนิยมเรียก “หลวงพ่อองค์ใหญ่” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาช้านาน.
เรียบเรียงข้อมูล – ตลาดทานพอ – มรดกไทย