ธรรมชาติของดีทั้งหลายย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดีมีอุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียดแต่ว่าดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดเป็นที่ทัดทรงของพระราชา อำมาตย์ อุปราช และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้น..มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นเลย
ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียด จิตจึงพ้นจากสิ่งสกปรกน่าเกลียดได้สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือ ตัวเรานี้เอง
ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครก คือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตร คูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกมาจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับเป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระขัดสีอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบ เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้า แพร เครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอก ก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลยเพราะเหม็นสาบ
ดังนี้ จึงได้ความว่า ร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ยังเป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย จึงมาพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญ ด้วยโยนิโสมนสิการตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือ ขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแห่งจริต จนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก
การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ ชาวนาเขาทำนา เขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดิน ดำลงไปในขี้ดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ขี้ดินนั้นเองเขาไม่ได้ทำในอากาศ กลางหาว คงทำแต่ที่ดินแห่งเดียวข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง
เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเองและจะห้ามว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางโดยไม่ต้องสงสัยเลย
ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น คงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัย หรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด
การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้มีสติรอบคอบในกาลอยู่เสมอจึงจะชื่อว่าทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการของตน กระจายออกเป็นธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว
#คัดลอกบางส่วนจาก : หนังสือ “มุตโตทัย” การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา /แนวหน้า