“พระครูภาวนาภิรมย์” พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง นับว่าเป็นอริยะสงฆ์แดนทักษิณ อีกองค์หนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดชีวิตร้อยกว่าปีของท่านมีแต่เมตตาธรรมต่อผู้ที่ได้ไปกราบท่าน
พ่อท่านคลิ้ง เดิมชื่อ คลิ้ง นามสกุล ฉิมแป้น เป็นบุตร นายแก้ว และ นางทุ่ม ฉิมแป้น เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำปีจอ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๙
ที่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่บ้านที่พ่อท่านเกิดชื่อหมู่บ้านถลุงทอง เป็นบุตรโทน คนเดียวของพ่อ-แม่ ซึ่งมีอาชีพทำนาทำสวน
ครั้นเจริญวัยอายุได้พอสมควร บิดาได้สอนหนังสือไทยให้ ปรากฏว่า เรื่องราวใดๆ ก็ตามที่บิดาสอนให้ก็สามารถจดจำได้ ครบถ้วน การเขียน การอ่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว เฉลียวฉลาดผิดปกติเด็กธรรมดาบิดาถ่ายทอดความรู้ภาษาไทยให้เพียงปีเดียวก็หมดสิ้นความรู้ที่มีอยู่
ปรากฏว่าพ่อท่านอ่านออกเขียนได้สิ้น บิดาเห็นเช่นนั้นจึงอยากจะให้บุตรคนเดียวของตนมีความรู้มากขึ้น ครั้นจะเอาไปเรียนที่ใดก็ไม่เห็นลู่ทาง จึงได้นำไปปรึกษากับ พระอาจารย์ขำวัดถลุงทอง
พระอาจารย์ขำ เห็นหน่วยก้านดีมีลักษณะเป็นคนมีบุญ จึงได้รับไว้ให้ศึกษาเล่าเรียนด้วย ขณะศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ขำ ก็ขยันขันแข็งในการเล่าเรียน ครั้นกลับบ้านก็ช่วยบิดามารดาทำงานทางบ้านทุกสิ่งสรรพเป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่ และผู้พบเห็นทั่วไป ไม่ผิดหวังกับพ่อแม่ที่มีลูกโทนเพียงคนเดียว
อายุได้ ๑๗ ปี พ่อท่านเป็นกำลังแข็งขันช่วยกิจการงานทางบ้านได้คล่องแคล่วพอจะแทนบิดามารดาได้ ก็พอดีมารดาถึงแก่กรรมยังเศร้าโศกเสียใจให้กับบิดาและตัวท่านเองมาก ด้วยความกตเวทิตาคุณมารดาและด้วยการส่งเสริมจากบิดา
พ่อท่านจึงบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่บัดนั้น คือ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ โดยพระอาจารย์ขำนำไปบวชเป็นสามเณรให้ที่วัดป่าตอ (ขณะนั้น วัดถลุงทอง ยังไม่มีวิสุงสีมา) โดยนิมนต์เอา เจ้าคุณศรีธรรมราชมุณี วัดหน้าพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช มาบวชให้
นับเป็นนิมิตอันดีเมื่อท่านเจ้าคุณเห็นสามเณรคลิ้งขณะนั้นเข้า ก็ถึงกับกล่าวชมว่ามี ลักษณะบุคลิกดี เป็นผู้มีบุญวาสนา จะสืบอายุพระศาสนาต่อไป และจะสำเร็จกิจ
ในทางธรรมสูงสุดในภายภาคหน้า เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็กลับมาอยู่ยังวัดถลุงทอง ศึกษาอัขระขอมสูตรเลขยันต์ เวทมนต์คาถา วิชาแพทย์แผนโบราณ และโหราศาสตร์ กับ พระอุปัชฌาย์ขำ (ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ขณะที่บวชสามเณรคลิ้ง)
ขณะเป็นสามเณรก็รับใช้พระอาจารย์ทุกสิ่งทุกอย่างจนเป็นที่รักใคร่ของพระอุปัชฌาย์ขำเป็นอย่างยิ่ง มีวิชาอันใดก็สั่งสอนให้ไม่ปิดบังหวงแหน
เมื่อวัยครบจะอุปสมบทเป็นภิกษุได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ บิดาจึงได้ขอร้องให้พ่อท่านอุปสมบทต่อไป ด้วยความเต็มใจของพ่อท่านอยู่แล้วพระอุปัชฌาย์ขำ จึงได้พาสามเณรคลิ้งเดินทางไปอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมา วัดป่าตอโดยมีพระอุปัชฌาย์ขำ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอียด
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “จันทสิริ” เมื่ออุปสมบทแล้วก็กลับมาจำพรรษายังวัดถลุงทอง ขยันหมั่นเพียรท่องบ่นมนต์คาถาเป็นประจำเพียงพรรษาได้ไม่มากก็ท่องสวดปาฎิโมกข์และบทสวดมนต์ได้เจนจบสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นบทใดในคัมภีร์ พ่อท่านค้นเอามาท่องจำได้หมด เป็นที่ชื่นชอบของพระอุปัชฌาย์ขำมาก ต่อมาพระอุปัชฌาย์ขำได้ถ่ายทอดวิชาที่มีอยู่ทั้งหมดให้ก็สามารถศึกษา ได้เจนจบ ต้องถึงกับมอบตำราของ
หลวงพ่ออยู่ ซึ่งนำมาจากกรุงศรีอยุธยาจำนวนหลายสิบเล่มให้พ่อท่าน พ่อท่านก็ศึกษาจนทะลุปรุโปร่ง พระอุปัชฌาย์เห็นคล่องแคล่วในวิชาการดีแล้วจึงสอนปฎิบัติปัสสนาธุระให้ พ่อท่านก็ปฎิบัติได้สมปรารถนาของอาจารย์อย่างรวดเร็ว เป็นเหตุอัศจรรย์ใจยิ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระอุปัชฌาย์ขำได้มรณภาพลง ก่อนมรณภาพก็ได้สั่งเสีย พ่อท่านคลิ้งขอให้สืบตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดถลุงทองต่อ และฝึกฝนญาณสมาธิให้แก่กล้าเพื่อความหลุดพ้นในขั้นต่อไป อย่าได้ทิ้งเสีย พ่อท่านก็รับคำพระอาจารย์ทั้งสิ้น
ความกตเวทิตาคุณในอาจารย์อันยิ่งใหญ่ พ่อท่านจึงได้ตั้งใจว่าจะสร้างศาลาโรงธรรมขนาดใหญ่เพื่อตั้งศพอาจารย์ให้สมเกียรติ จึงได้ประชุมชาวบ้านญาติโยมให้ช่วยกันสร้างกุศล เพียงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าของพ่อท่าน
โรงธรรมขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๕ เมตร ก็สำเร็จลุล่วงลง ชาวบ้านเห็นความดีของท่านที่มีความตั้งใจแสดงกตเวทิตาอาจารย์แรงกล้าเช่นนั้นจึงพร้อมใจกันนิมนต์ พ่อท่านให้เป็นเจ้าอาวาสสืบมาเป็นที่รักใคร่นับถือของชาวบ้าน เป็นที่พักพิงอาศัยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บขจัดทุกข์โศก และอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์และชาวบ้านตั้งอยู่ในคุณงามความดี
พ่อท่านคลิ้ง นับว่าเป็นพระเถระที่น่ากราบไหว้ ท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในศีลาจารวัตร ปฏิบัติแต่วิปัสสนาธุระ บำเพ็ญเพียรทางใจทรงไว้ด้วยญาณสมาธิอย่างแก่กล้า ท่านมักจะพูดน้อย และดำรงตนอยู่อย่างสมถะมักน้อย ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีเมตตาธรรม
เป็นที่รักใคร่แก่ทุกคนที่พบเห็น ท่านมีเมตตาอยู่ในตนเองอย่างประหลาด ท่านจะสวดมนต์อยู่เสมอในเวลาว่าง และปฏิบัติวิปัสสนาเป็นประจำในยามราตรีอันวิเวก ฉันอาหารเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวัน แต่ร่างกายท่านสมบูรณ์ ใบหน้าแดงผ่องผุดเต็มไปด้วยบุญญาราศี
กล่าวกันว่าท่านปกครองพระในวัดด้วยสายตา เพียงแต่มองเท่านั้น ก็ทราบว่าท่านตำหนิหรือชมเชย และสิ่งสำคัญคือ วาจาของท่าน “ศักดิ์สิทธิ์” และเป็นไปได้ทุกประการตามคำทุกคำของท่านที่ได้กล่าวออกไป
พ่อท่านคลิ้งมีความสนิทและชอบพอกันดีกับ พ่อท่านคล้าย และพ่อท่านคล้ายมักจะกล่าวยกย่องท่านอยู่เสมอในบรรดาลูกศิษย์เป็นที่ทราบกันดีในระหว่างลูกศิษย์ใกล้ชิดระหว่าง พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน กับ พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง
เมื่อพ่อท่านคลิ้งกับพ่อท่านคล้ายพบปะกันท่านมักจะดีใจยิ้มแย้มเข้าหากัน และสนทนากันเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ถึงการปฏิบัติธรรมของกันและกันอย่างสนิทสนม
เถราจารย์อันแก่กล้าสององค์นี้มีความเหมือนกันเป็นที่ประจักษ์ใน ความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา พ่อท่านคล้ายมีความเชื่อมั่นในตัวพ่อท่านคลิ้งมาก ถึงกับเคยพากฐินไปทอดที่วัดถลุงทองถึงสองครั้งด้วยกัน
เมื่อครั้งที่อาจารย์นำ วัดดอนศาลา จ.พัทลุง ยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยพูดถึงพ่อท่านคลิ้งเสมอ และให้นิมนต์ไปร่วมปลุกเสกมงคลวัตถุชิ้นสุดท้าย คือรูปเหมือนและกริ่งทักษิณชินวโรด้วย อาจารย์นำเคยกล่าวกับ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคคลว่า
“หากสิ้นบุญฉันแล้ว มีกิจอันใดที่สำคัญก็จงไปหาพ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ร่อนพิบูลย์นครศรีฯเถิด ท่านเก่งและแก่กล้าทางญาณสมาธิมาก”
ครั้นเมื่อพระอาจารย์นำสิ้นบุญลงแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้เป็นประธานในการจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ
และในงานนี้ได้จัดสร้างเหรียญพระอาจารย์นำ หลัง ภ.ป.ร. ขึ้นเป็นที่ระลึกในงานอีกทั้งได้นึกถึงคำพูดของพระอาจารย์นำ จึงให้คณะกรรมการวัดไปนิมนต์พ่อท่านคลิ้ง
มาทำการปลุกเสกเหรียญและมาร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ ที่วัดดอนศาลา จ.พัทลุงด้วย จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ และถวายน้ำพระพุทธมนต์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ และพระบรมวงศานุวงศ์
พ่อท่านคลิ้งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกครั้งหนึ่ง ณ วัดโคกสมานคุณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในงานยกช่อฟ้าของวัด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ ให้พ่อท่านคลิ้งเป็นพระครูสัญญาบัตร “พระครูภาวนาภิรม” ในอันดับที่ ๙๓ ของใบประกาศพระราชทานสมณศักดิ์ ปี ๒๕๒๑
ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพและที่มาข้อมูล – หนังสือพิมพ์รวมไทย