เมื่อวันที่ 31 มกราคม บริเวณสนามหน้า อบต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมสาธารณะของกลุ่มชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางกลุ่มพันธมิตร ยังคงปักหลักเป็นวันที่ 6 ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในเวลา 15.30 น. นายมนัส บุญพัฒน์ นายสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ในฐานะผู้นำกลุ่มชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางพันธมิตร ได้ขึ้นบนเวที พร้อมเชิญคณะกรรมการ ร่วมแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เป็นการประกาศปฏิญญาในภาระกิจการชุมนุม “ยกระดับ” และประกาศการชุมนุมต่อไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงมาฟังข้อเรียกร้องด้วยตัวเองเท่านั้น
โดยข้อเรียกร้อง มี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) ให้มีมาตรการควบคุมการซื้อขายยางอย่างเป็นธรรมและจริงจังเข้มงวดของตลาดซื้อขายยางพาราทุกชนิดภายในประเทศอย่างยุติธรรมโดยเกษตรกรไม่ถูกกดขี่จากกลุ่มพ่อค้าบริษัทรายใหญ่และส่งออกแบบเพิกเฉยและปล่อยปละละเลย
2) ให้ชดเชยเงินรายได้จากสวนยางตามโครงการด้วยสภาพราคาจริงที่เกษตรกรขายได้ในแต่ละชนิดยางไม่อนุบาลราคาเพียงเพราะเพื่อสลายสัญญาการหาเสียงทางการเมืองที่สมมุติขึ้นรวมทั้งรวมถึงโครงการชดเชยต้องครอบคลุมถึงเกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกไว้ในที่ดินอื่นๆโดยไม่นับเอาเฉพาะส่วนอย่างต่ำเอกสารสิทธิ์ กยท.เอกสารสิทธิ์ที่ กยท.กำหนดและได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นกลุ่มจำกัด เพราะเป็นเงินโครงการฯ ที่มาจากงบประมาณส่วนกลาง ไม่ใช่เงินของ กยท. แม้แต่สักบาทและเป็นเงินสำหรับคำว่า “เกษตรกรชาวสวนยาง” ไม่ว่าจะเป็นที่ดินในที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่เกษตรกรชาวสวนยางต้องได้รับสิทธิ์ไม่มีข้อยกเว้น
3) หน่วยงานที่รับผิดชอบกระทรวงเกษตรต้องตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด ต่อพนักงานหรือข้าราชการทุกระดับ ที่เคยทุจริตและกำลังทุจริตในโครงการต่างๆ ซึ่งทำให้เงินส่วนราชการและเงินของการยางซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเสียหายสูญเปล่า
เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอำนาจโดยตรงตามที่กลุ่มประชาชนได้ระบุไปแล้วนั้น หมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมารับฟังข้อเรียกร้องและเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมหากรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ลงมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีมติว่าจะยังคงปักหลักชุมนุมต่อไปและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ปฏิญญาเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางกลุ่มพันธมิตร 31 มกราคม 2563
นายมนัส กล่าว เราไม่กังวลใดๆยังคงปักหลักสู้ต่อ ไม่ต้องกลัวว่าไม่มีผู้มาร่วมชุมนุม ช่วงเช้าเราไปทำภารกิจส่วนตัว หุงหาข้าวปลาให้ครอบครัว อาบน้ำอาบท่าให้ตัวเย็นแล้วมานั่งร่วมแสดงความคิดเห็นกันต่อไป โดยในค่ำนี้เรามีภารกิจลับที่จะร่วมหารือ อย่าคิดว่าเราไม่มีอะไร
นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ถ้ำพรรณรา ในฐานะกรรมการกลุ่มชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า มีคนติดต่อมาว่าจะแก้ปัญหายางพาราให้ทุกข้อ และแจ้งว่ามีคณะทำงานของรัฐบาลเดินทางมาที่นครศรีธรรมราช ทำไมไม่ไปพบ ผมบอกไปว่า พวกที่มา ถ้าตีเป็นมูลค่าแล้วไม่เกิน 2 บาท ในสายตาของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อย่าว่าแต่จะแก้ปัญหาให้ได้ พวกเราตั้งเวทีมาสามครั้งแล้ว แสดงความเดือดร้อนให้ทราบเป็นเดือนแล้ว ยังไม่สนใจดูแลอีก นี่หรือที่อาสาเข้าไปนำประเทศ ไปเป็นให้หนักแผ่นดินเสียเปล่า มาดูเข้าทำยางแต่ไม่ได้แก้ปัญหายาง แสดงว่าพอได้ศึกษาวิธีทำยางอยู่ว่าเขาทำกันแบบไหน ยังไม่รู้ตลาดขายที เพราะพรุ่งนี้หลังจากพวกท่านๆ มา ราคายางยังลงอีก 1 บาท ประชด แต่พวกท่านๆ ยังคงได้เงินเดือนและเบี้ยการเดินทางเหมือนเดิม
“อยากทราบว่าทำอะไรกันอยู่ ที่ไม่ทุกข์ไม่ร้อนกันเลยหรือ ท่านรู้ไหมว่าหน้าเวทีชุมนุมอากาศมันร้อนขนาดไหน หากพวกเราทนไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ผมเชื่อว่า ท่านๆ ก็ไม่มีที่ยืนหรือยืนแบบปิดหน้า มันคงไม่งามเท่าที่ควร สุดท้ายท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ลงมาท่านคนเดียวน่าจะแก้ปัญหาให้พวกเราได้ แต่ถ้าท่านบอกไม่ใช่ปัญหาของท่าน ก็ขอให้ท่านรับผิดชอบตัวเองลาออกไป ให้อื่นที่เขาต้องการทำงานแก้ปัญหาเขามาทำ”
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ จะเดินทางมาติดตามการดำเนินงาน “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” ที่ ชุมชนบ้านวังไทร ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมการรับซื้อน้ำยางสด จากนั้นเดินทางไป จ.พัทลุง ซึ่งการเดินทางไป จ.พัทลุงจะต้องผ่านสถานที่การชุมนุมของชาวสวนยางด้วยเช่นกัน